ธ. ไทยพาณิชย์คาดปี 67 สินเชื่อเอสเอ็มอี ทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากยอด 2.5 แสน ลบ. หลังลูกค้าส่วนใหญ่ชำระคืนหนี้ ส่วนยอดปล่อยสินเขื่อใหม่เอสเอ็มอีเป็นไปตามเป้า ใกล้แตะ 2-3 พัน ลบ. ระบุหนี้เสียต่ำ 2.9% เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่รัฐจะออกมา พร้อมเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอดผ่านโครงการสินเชื่อ ESG
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อ SME (ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม ที่มียอดขาย 75-500 ล้านบาท) ของธนาคาร ปี 2567 นี้ คาดปิดสิ้นปีนี้มียอดสินเชื่อคงค้างทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย จากยอดคงค้าง 2.5 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2566 เนื่องจากลูกค้าได้ชำระคืนสินเขื่อ ขณะที่ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ ธนาคารตั้งเป้าหมายปีละ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าเป็นไปตามเป้า โดยจะเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่เอสเอ็มอี 2-3 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว
สำหรับปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ระดับทรงตัว 2.9% โดยธนาคารพยายามควบคุมให้อยู่ระดับต่ำ 3% อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวนและเปราะบางอยู่นับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ธนาคารยังคงความช่วยเหลือลูกค้าที่ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งลูกค้าบางส่วนสามารถปรับตัวกลับมาดีขึ้นได้ และบางส่วนที่ยังเปราะบางอยู่ และยังไม่ได้ขอเข้ารับความช่วยเหลือราว 3.5 พันล้านบาท ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท. และภาครัฐออกมาชัดเจน ธนาคารพร้อมจะช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางผ่านมาตรการดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ ช่วง ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปให้คำปรึกษาและแนะนำการปรับตัวทั้งเชิงโครงสร้างธุรกิจ รวมไปถึงเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในปัจจุบัน รวมไปถึงการลดต้นทุนต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ใยระยะยาว
นอกจากนี้ ธนาคารช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG) เพราะเอสเอ็มอีเป็นส่วนใหญ่ของซัพพลายเชนที่ต้องปรับตัวตามธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่เร่งดำเนินการจะเสียโอกาสทางการค้าและสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ทั้งนี้ ธนาคารมรโครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปีแล้ว และยังมีโครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืน ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (หรือ NIA), และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และอีก 1 บริษัทเอกชน บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมมือกันนำความรู้ ประสบการณ์ และเชี่ยวชาญการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่นักธุรกิจ SMEs รายอื่นๆ เพื่อร่วมวางยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะยาว รวมถึงแคมเปญเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนค่าบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน หรือ ESG วงเงินช่วยเหลือ อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขการชำระคืน (Grant) สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี รวมทั้งหมด ไม่เกิน รายละ 500,000 บาทต่อนิติบุคคล โดยมี SCB เป็นช่องทางหลักในการ ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการสนับสนุนดังกล่าว