หอการค้าฯ คาดรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ห่วงผลกระทบไทยทางอ้อม ฉุดกำลังซื้อ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะท่าทีของ NATO และการพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกซึ่งในระยะนี้
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังเรื่องการชำระเงินและรับคำสั่งซื้อ ซึ่งอาจเกิดความล่าช้าในการชำระเงินมากกว่าปกติ แต่คาดว่า ผู้ประกอบการไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เนื่องจากไทยกับทั้งรัสเซียและยูเครน มีปริมาณการค้าต่อกันไม่มาก ประมาณ 0.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย และ 0.9% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของไทย รวมถึงอาจพิจารณาไปใช้ช่องทางอื่นในการรับชำระเงิน เช่น การชำระเงินผ่านระบบ SWIFT กับธนาคารในประเทศรัสเซียที่ไม่ถูก sanction การชำระเงินผ่านระบบ CIPS ของจีน หรือการชำระเงินผ่านประเทศที่สาม
นายสนั่น กล่าวว่า เมื่อวันวานนี้ (2 มี.ค.) ผู้แทนของหอการค้าไทย ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเตรียมรับมือในส่วนนี้แล้ว โดยภาคเอกชนประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป กลุ่ม SME โดยเฉพาะเครื่องสำอางและอัญมณี ที่รัสเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่และตลาดกำลังเติบโต รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย
"หอการค้าฯ คาดว่า สถานการณ์คงยืดเยื้อแน่นอน แต่ในระยะสั้นนี้ จะเป็นผลกระทบทางตรง ซึ่งมีไม่มากนัก แต่ผลทางอ้อมจะสำคัญต่อประเทศไทยมากกว่า คือ ราคาน้ำมันวันนี้ทะลุ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวานอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต้นๆ ซึ่งมีโอกาสจะทะลุ 120 โดยง่าย ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย ประมาณ 5.0-7.5 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับปลายเดือนก.พ. ซึ่งผลกระทบทางอ้อมนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแน่นอน ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เพราะสินค้ามีราคาแพง ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่ช่วยลดภาษี และตรึงราคาน้ำมันภายในประเทศในช่วงนี้ และอยากให้พิจารณามาตรการนี้ต่อหากเหตุการณ์ยืดเยื้อ" นายสนั่น กล่าว
ในด้านการท่องเที่ยว คาดว่า นักท่องเที่ยวในปีนี้จากรัสเซียอาจจะหายไปประมาณ 2.5 แสนคน เนื่องจากมีข้อจำกัดของการเดินทาง ลดลงจากเดิมที่เคยประเมินว่าปีนี้จะมีเข้ามา 5 แสนคน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคาดหวังว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนรายได้ในส่วนนี้
สำหรับผลกระทบด้านอื่นที่จะเกิดขึ้น คือ เรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลก (ข้าวสาลี และข้าวโพด) จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศที่ส่งออกทั้งข้าวสาลีและข้าวโพดรายใหญ่ของโลก ซึ่งมันสำปะหลังก็เป็นสินค้าทดแทน จึงแนะนำให้ภาครัฐควบคุมราคาวัตถุดิบภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นโอกาสของธุรกิจมันสำปะหลังของไทย ที่จะเข้ามาทดแทนส่วนนี้ในอนาคต
นอกจากนี้ ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศที่จะกระทบ global supply chain ที่ยังต้องจับตามองผลกระทบจากค่าระวางเรือที่จะเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสายเรือ งดรับ booking ในเส้นทางรัสเซีย-ยูเครน และบริษัทประกันภัยไม่รับประกันการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าว ทำให้ต้องพิจารณาใช้เส้นทางทางบก หรือระบบราง และต้องขนส่งผ่านประเทศอื่นๆ เพื่อเข้าไปยังรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีประกาศจากสายเรือที่พร้อมให้บริการบ้างแล้วว่าสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ยังสามารถส่งเข้ารัสเซียได้
ส่วนผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว ประเมินว่า จะเกิดผลกระทบด้านโลจิสติกส์ โดยอาจเกิดภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ จึงขอเสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาจัดทำ Transit Agreement กับประเทศจีน และให้ศึกษาการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีของสหภาพยูเรเซีย เพื่อพิจารณาเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าใหม่
นอกจากนั้น ยังคงต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อ และการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐควรรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ