ธปท. ชี้เศรษฐกิจปี 66 แผ่วเกินคาด แม้ท่องเที่ยวฟื้นแต่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อย แย้มGDP อาจต่ำ 2% รอกนง. ประกาศหั่นเป้า GDP ปี 66-67 จี้จุดอ่อน ศก.ไทยอยู่ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างปรับคัวไม่ทันโลกดิจิทัล ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาทางวัฎจักร เตือนระวังเงินบาทผันผวนเชิงอ่อนค่า ช่วงโลกเข้าสู่ช่วงข้อต่อปรับนโยบายดอกเบี้ยลดลง พร้อมชี้ต้นเหตุต่างชาติทิ้งหุ้นไทย เพราะหุ้นกลุ่มสำคัญในตลาด ปรับตัวการผลิตไม่ทันโลกยุคใหม่ "อิเล็กทรอนิส์-ปิโตรเคมี"
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี2566 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวชะลอลง ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำที่ชะลอลงจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว อาทิ การที่เศรษฐกิจจีนพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในทิศทางชะลอลงด้วย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ธ.ค. มีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนขณะที่เดือน ม.ค. 67 พบว่า ปรับตัวอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยลง นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อสกุลต่างๆรวมถึงเงินบาท และปัจจัยในประเทศด้วย ซึ่งจะเห็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
"ปี 2566 ที่ผ่านมา ไตรมาส 4 มีโอกาสที่ GDP จะโตใกล้เคียง (คลังคาด 1.4%)กับไตรมาส 3 ที่อยู่ระดับ 1.5% และเป็นไปได้ที่ทั้งปีอาจจะไม่ถึง 2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ส่วนจะมีการปรับคาดการณ์ GDP ปี 2566 และ ปี 2567 ลดลงหรือไม่ ต้องรอการประชุม กนง. ที่กำลังจะมีขึ้นวันที่ 7 ก.พ. นี้"
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ยังได้รับแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 38 ล้านคน และแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ทะเลแดง และนโยบายของภาครัฐ เช่น ดิจิทัล วอลเลต เป็นต้น
นางชญาวดี กล่าวว่า ในวันที่ 7 ก.พ. นี้ คาดว่าจะมีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 66 ลดลง จากปัจจุบันคาดเติบโต 2.4% เนื่องจากเครื่องชี้ดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ชะลอกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า และมีความเป็นได้ที่เศรษฐกิจจะชะลอกว่าที่คาด ส่วนจะเติบโต 1.7% ตามที่กระทรวงการคลังไว้นั้น ยอมรับว่าการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ในดัชนีฯชี้วัดที่ไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนจะปรับตัวเลข GDP ออกมาเท่าไหร่ คงต้องรอผลประชุม กนง. อย่างไรก็ตาม GDP ปีนี้ กรณีไม่รวมผลของมาตรการดิจิทัล วอลเลต คาดขยายตัว 3.2%
ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ถกเถียงกันว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเข้าวิกฤตินั้น นางชญาวดี กล่าวว่า คำว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้กัน คือ มองในภาพรวม ซึ่งจะมีเครื่องชี้ต่างๆว่า จะหดตัวแรงแค่ไหน และยังขึ้นอยู่กับว่าเป็นวิกฤติแบบไหนด้วย ซึ่งก็มีหลายแบบ ถ้ามองตอนนี้ เศรษฐกิจก็ไม่ได้เติบโตช้ามาก หรือสะดุด แต่หากมองภาพย่อย รายคน รายธุรกิจ ก็มีความเดือดร้อน อย่างที่เราก็เห็น บางจุดมีความเดือดร้อนจริงๆ ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะวัดตรงไหน
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิด-19 แล้ว แต่ยังเติบโตต่ำและช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวเมื่อไตรมาส 3/66 ที่ผ่านมา เนื่องจากไทยเจอปัจจัยทั้งทางวัฏจักร และปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างมานานและเห็นผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น สะท้อนจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในบางสาขา เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปิโตรเคมิเคล ฯลฯ แม้ยังมีภาคบริการที่มีการท่องเที่ยว ช่วยขับเเคลื่อน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงคู่แข่งในระยะปานกลางและระยะยาวเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากผู้ผลิตไทยยังไม่ปรับตังเผลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกยุค Digital economy ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และกระแส Green economy ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำในระยะข้างหน้า
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยน ในปีนี้ยอมรับว่ามีความผันผวน เนื่องจากเป้นช่วงข้อต่อที่ธนาคารกลางใหญ่ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่วัฎจักรของการลดดอกเบี้ย จึงเป็นจุดที่ตลาดคาดการณ์และตีความในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยต่างๆนานาได้โดยมีการคาดการณ์สหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยใยปีนี้ ซึ่งปีที่แล้วมีการประเมินว่า อาจจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น แต่ปีนี้ ประธานเฟดในหลายๆสาขา ต่างมองว่าอาจจะปรับดอกเบี้ยลงที่ช้ากว่าคาดเดิม เป็นต้น
สำหรับต้นเหตุที่นักลงทุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา เพราะหุ้นกลุ่มสำคัญในตลาดปรับตัวการผลิตไม่ทันโลกยุคใหม่ "อิเล็กทรอนิส์-ปิโตรเคมี" ทำให้นักลงทุนเปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มเดียงกันในตลาดต่างประเทศ จึงหันไปลงทุนหุ้นที่มีอนาคตเติบโตดีกว่า
ทั้งนี้ รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อนโดยการส่งออกลดลงในหลายสินค้าตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งการส่งออกและผลจากปัญหาภัยแล้ง โดยการส่งออกข้าวขาวไปอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ลดลงตามผลผลิตข้าวที่ลดลง ส่วนการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ลดลงเช่นกัน ขณะที่การส่งออกปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ลดลงต่อเนื่องหลังจีนหันมาผลิตในประเทศเองมากขึ้น รวมทั้งความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ในอาเซียนลดลง อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดยังปรับเพิ่มขึ้น อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปออสเตรเลีย น้ำมันดีเซลไปอาเซียน และฮาร์ดดิสไดรฟ์ไปฮ่องกงและจีนตามรอบการส่งมอบสินค้า
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อย สินเชื่อ ประกอบกับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดปิโตรเลียมและหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดลงจากการทยอยระบายสินค้าคงคลังของผู้ผลิต หลังได้ผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง หลังจากเร่งไปแล้วในช่วงก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้า โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศปรับเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะ 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน 2) เชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบ และ3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน หลังเร่งนำเข้ามามากในเดือนก่อนสำหรับงานมหกรรมยานยนต์
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนี่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะสัญชาติจีน ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติ อาทิ ยุโรป และสหรัฐฯชะลอลงเล็กน้อยหลังเร่งไปในเดือนก่อน สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และการลงทุนรัฐวิสาหกิจหดตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายงบกลางสำหรับเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อนจากราคาหมวดอาหารสด ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และจากราคาหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตชะลอลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว