ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS คาดวันนี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 36.45-36.70 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูง (แกว่งตัวในช่วง 36.40-36.72 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ได้ชะลอลงสู่ระดับ 3.3% น้อยกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีความหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่ ในผลการประชุมเฟดล่าสุด สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ (จาก 3 ครั้ง ใน Dot Plot การประชุมเดือนมีนาคม) ซึ่งภาพดังกล่าวก็หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นมาบ้าง ส่วนราคาทองคำก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลง
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด อย่างไรก็ดี คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ล่าสุด ที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ก็มีส่วนกดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างในช่วงท้ายตลาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.85%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.08% หนุนโดยความหวังว่าบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ฝั่งยุโรปปรับตัวขึ้นแรง อาทิ SAP +3.4%, ASML +2.8%
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด และคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ที่แม้จะสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ แต่ก็ยังสะท้อนว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องอีก 4 ครั้ง ต่อปี ในปี 2025-2026 ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.32% ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวลดลงต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัดในระยะสั้น จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมที่ทำให้เชื่อได้ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลงได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง ตามแรงหนุนจาก Dot Plot ใหม่ของเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 104.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-105.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ถือว่าผันผวนสูงพอสมควร โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นแรง จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายเพิ่มเติม กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซน 2,337 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นบ้าง ตาม Dot Plot ใหม่ที่สะท้อนว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิดได้ โดยหาก PPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เฟดอาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยอาจยังอยู่ในระดับสูงได้นานขึ้น ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทตั้งแต่ช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ อาจชะลอลงบ้าง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง (หรือมากกว่า) ตามที่เราได้ประเมินไว้ ทำให้ เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เรามองว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน จนกว่าความวุ่นวายการเมืองในประเทศจะคลี่คลายลงไปบ้าง ซึ่งต้องไปรอลุ้นการพิจารณาคดีต่างๆ ของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 มิถุนายน ขณะเดียวกัน เรามองว่า บรรดาเล่นในตลาด อาทิ ผู้นำเข้า และผู้เล่นต่างชาติ ก็อาจใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) ในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์บ้าง ทำให้เงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวรับในช่วงดังกล่าวไปก่อน อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าก็จะเป็นไปอย่างจำกัด
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานดัชนี PPI ของสหรัฐฯ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพราะหากออกมาสูงกว่าคาด หรือ ดีกว่าคาด (ในส่วนของยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน) อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้างและอาจทยอยกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันเงินบาท รวมถึงราคาทองคำได้ไม่ยาก
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.45-36.70 บาท/ดอลลาร์