เงินบาท“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” เปิดเช้านี้ 33.27 บาท/ดอลลาร์ กรุงไทย เตือนระวังความผันผวนช่วงรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 33.10-33.40 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.21 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวในกรอบ 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจนต่อไป ทำให้โดยรวม เงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways เช่นเดียวกันกับราคาทองคำที่ยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน หลังจากปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในช่วงนี้
แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้แรงหนุนจากความหวังการเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ของเฟดในการประชุมเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ (จาก CME Fedwatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดเร่งลดดอกเบี้ยราว 62%) ทว่า ความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของ Apple -2.8% ได้กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของ Apple ต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.52% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.13% ขณะที่ดัชนี Down Jones ปรับตัวขึ้น +0.55%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.16% กดดันโดยแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML -1.9% หลังหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ปรับตัวขึ้นพอสมควรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใส ก็มีส่วนกดดันหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยของยุโรป
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.62% หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดจะเริ่มเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และเฟดก็ยังมีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่า -125bps ในปีหน้า ท่ามกลางมุมมองของอดีตเจ้าหน้าที่เฟด อดีตที่ปรึกษาประธานเฟด รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานกับเฟด อาทิ คุณ Claudia Sahm ผู้คิด Sahm’s Rule ซึ่งต่างออกมาสนับสนุนการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากเฟดไม่ได้เร่งลดดอกเบี้ยและไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.6-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำออกมาบ้าง พร้อมทั้งรอจับตาผลการประชุม FOMC ของเฟดในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวม ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม รวมถึงยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) และคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 โดย Atlanta Fed ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าว ออกมาแย่กว่าคาดและส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนกันยายน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์อย่างชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟดดังกล่าว อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงราคาน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยออกมาได้บ้าง ซึ่งอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดได้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย (ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ก็อาจลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดลงได้บ้าง แต่อาจไม่มากนัก ทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นบ้าง กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทดสอบโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ในทางกลับกัน หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะเริ่มเร่งลดดอกเบี้ยลงได้ กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลงต่ออีกครั้ง ส่งผลให้ ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดใหม่ ส่วนเงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 33.10-33.15 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หรือเสี่ยงที่จะหลุดโซนแนวรับดังกล่าว จนไปถึงแนวรับสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้เมื่อต้นสัปดาห์ได้
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.40 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)