Economies

บาท `แข็งค่าขึ้น`เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.30 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
2 ก.พ. 2567

เงินบาท "แข็งค่าขึ้น"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.30 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS

แนะจับตาไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ประเมินกรอบ 35.00-35.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลข้อมูลดังกล่าว

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.30-35.54 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน หรือ Jobless Claims ออกมาแย่กว่าคาด ขณะที่ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตออกมาดีกว่าคาด) อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลปัญหาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ ที่รายงานผลประกอบการขาดทุนหนัก ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ซึ่งการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นสู่โซนแนวต้านแถว 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทเช่นกัน 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้น ของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +2.6%, Nvidia +2.4% ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และแรงซื้อคืนของผู้เล่นในตลาด เพื่อรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Apple, Amazon และ Meta ที่จะรายงานผลประกอบการในช่วง After Hours ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.30% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.25%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.37% หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงินและหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ BNP -9.2%, ING -6.4%, Roche -5.7% และ Sanofi -4.1% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ บ้าง ทั้ง ASML +1.8%, SAP +0.9%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงความกังวลปัญหาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ ที่กลับมาอีกครั้ง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า แม้เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ทว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 6 ครั้ง หรือ -150bps ในปีนี้ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.88% ซึ่งเรามองว่า ระดับดังกล่าวอาจต่ำไป และเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจรีบาวด์ขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return 

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลปัญหาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ลดความต้องการถือเงินดอลลาร์ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้น สู่โซนแนวต้าน 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยออกมาขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ โซน 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways ก่อนที่จะเลือกทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้ง หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาดและควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls), อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings %m/m, %y/y) ซึ่งข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ดังกล่าว จะส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนนี้ (ประมาณ 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) อย่างไรก็ดี เงินบาทมีโอกาสผันผวนแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติม ทั้งนี้ เรายังคงประเมินว่า เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าอยู่ ทำให้เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก (ถ้าหากแข็งค่าผ่านโซนดังกล่าว ก็จะติดแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)

 

อนึ่ง เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยหากรายงานข้อมูลการจ้างงานนั้นออกมาดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย 6 ครั้ง ของเฟด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้เร็วและแรง (จะรีบาวด์ขึ้นมากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับความ “Surprise” ของข้อมูลการจ้างงาน ว่าจะออกมาดีกว่าคาดมากขนาดไหน) กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท โดยในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.65-35.75 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน การชะลอตัวลงต่อเนื่องของการจ้างงาน ที่อาจออกมาแย่กว่าคาดเล็กน้อย ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยไปจากเดิมมากนัก ส่งผลให้ เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่หลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ หากยอดการจ้างงานลดลง แย่กว่าคาดไปมาก ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดก็มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ส่งผลให้ เงินบาทเสี่ยงที่จะแข็งค่าหลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ

 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.45 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ 

 

และประเมินกรอบในช่วง 35.00-35.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com