“สรรพากร” เดินหน้าหารือรูปแบบเก็บภาษีรายได้จากการลงทุนตปท. เตรียมจัดประชุมกลุ่มย่อย นัด ก.ล.ต. -ธปท. และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องชี้แจงชัดเจน จ่อมีผลจัดเก็บปี 2567 ยันไม่มีเก็บภาษีซ้ำซ้อน กรณีจ่ายภาษีประเทศคู่สัญญาไปแล้ว
“สรรพากร” แจงเก็บภาษีคนไทยที่มีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ เตรียมจัดกระชุมหารือร่วมกับ ก.ล.ต. ธปท. และผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ย้ำเป็นไปตามกติกาภาษีโลก และให้ความเป็นธรรมกับคนที่ลงทุนในไทยและลงทุนในต่างประเทศ ยันไม่มีเก็บภาษีซ้ำซ้อน กรณีจ่านภาษีประเทศคู่สัญญาแล้วไม่ต้องจ่ายที่ไทย จ่อมีผลบังคับใช้ปี 2567
รับการบ้านนายกฯ พร้อมเช็คลิสภาษีมรดก มองถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัจจุบัน พร้อมแจงดราม่าเก็บภาษีนักลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศชี้เป็นไปตามกติกาภาษีโลก และเพื่อให้เป็นธรรมกับนักลงทุนทั้งหมด ยันไม่มีเก็บภาษีซ้ำซ้อนแน่นอน หากจ่ายที่อื่นแล้วก็ไม่ต้องเสียที่ไทยอีก
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงประเด็นคำสั่งกรมสรรพากร เรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบุคคลที่มีเงินได้จากต่างประเทศ ว่า ตนขอย้ำเรื่องดังกล่าวเป็นพัฒนาการตามกติกาการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีระยะเวลาอยู่ในประเทศไทย 180 วัน และหลักการรับรู้รายได้ที่เป็นกฏกติกาที่ทั่วโลกใช้กัน ซึ่งประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิก ซึ่งทั้งหมดที่ดำเนินการเเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและมีความเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีรายได้ตากการลงทุนในลักษณะเดียวกันก็ควรจะต้องสียภาษีคล้าย ๆ กัน สำหรับการดำเนินการในระยะสั้น กรมสรรพากรจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง ทั้งนี้คาดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ปี 2567 ซึ่งจะยื่นแบบภาษีฯ ในปี 2568
สำหรับขั้นตอนดำเนินการต่อจากนี้ในช่วงทีเหลือปีนี้ กรมสรรพากรจะหาข้อสรุปแนวทางดำเนินการ โดยมีการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ ทั้งนักลงทุน ผู้เสียภาษี และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร รวมถึงจะรับฟังข้อเสนอแนะและความกังวลของแต่ละกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด
"เรื่องนี้อยากขอให้เข้าใจหลักการที่เราทำเป็นไปตามพัฒนาการของ Global ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ และหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ของไทย มี 2 เรื่อง คือ หลักถิ่นที่อยู่ ซึ่งหากมีระยะเวลาอยู่ในไทย 180 วัน และหลักการรับรู้รายได้ทั่วโลก และหากจำกันได้เรามีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริบทการจัดเก็บภาษีใน 2 หลักนี้เปลี่ยนไป ข้อมูลขของคนไทยที่มีรายได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อก่อนอาจจะไม่รู้หรือไม่ค่อยรู้ หรือยากที่จะได้ข้อมูลชุดนี้มา แต่ต่อไปนี้ข้อมูลชุดนี้จะเป็นแบบออโตเมติกส์ หรือว่าสามารถรู้ได้ในกรณีร้องขอ ทำให้เราต้องเปลี่ยนบริบทของการกำหนดเงื่อนไข ว่าเงื่อนไขลักษณะไหนจะต้องเสียภาษีบ้าง” นายลวรณ กล่าว
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรขอยืนยันว่า จะไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าวซ้ำซ้อนอย่างแน่นอนเพราะไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้า ดังนั้น หากผู้ลงทุนเสียภาษีกับประเทศไหนแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามอนุสัญญาภาษีซ้อน จะไม่มีการมาเสียภาษีที่ไทยอีก
นายลวรณ กล่าวว่า ในระยะยาวเชื่อว่าจะมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และเพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยกรมฯ ยังไม่ได้ประมาณการเรื่องรายได้ว่าจะเข้าข่ายเสียภาษีกี่คน แต่เป็นการแก้ไขเรื่องหลักการและวิธีการที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทด้านภาษี และกติกาภาษีของโลก ซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขในส่วนนี้ต่อไปจะทำให้สามารถรู้ได้ว่าผู้ลงทุนมีรายได้ที่เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ส่วนรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับวิธีการจะดำเนินการอย่างไรบ้าง คงต้องรอคุยกับแต่ละกลุ่มก่อน
“กรมฯ มองเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษีเป็นหลัก หากผู้ลงทุนเป็นคนไทย ไม่ว่าจะลงทุนที่ไหนก็ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องและเท่าเทียม โดยเชื่อว่าประกาศที่ออกมาตอนนี้คงไม่ใช่ฉบับเดียว หลังจากนี้อาจจะมีเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการตามออกมาอีกในอนาคต” นายลวรณ กล่าว
สำหรับการจัดเก็บภาษีมรดก นั้น กรมสรรพากรได้รับการบ้านจากนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เรื่องภาษีมรดกเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้กรมฯ จะกลับไปดูในรายละเอียดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมรดกให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจะรีบเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโดยเร็วที่สุด
“จะต้องไปดูภาพรวมโครงสร้างภาษีมรดกทั้งหมด อัตราภาษี และหลายส่วนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร ต้องดูไปทุกเรื่องพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เห็นภาพ โดยต้องยอมรับว่าในช่วงที่ประกาศใช้ภาษีมรดก ซึ่งถือเป็นภาษีใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่น อัตราการจัดเก็บจึงบาง ๆ แต่หลังจากนี้ก็คงต้องมาดู มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น” นายลวรณ กล่าว