ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.25 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.36 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจลดความรุนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังการประชุมเดือนกันยายนลงได้ (ตลาดเชื่อว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน) หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่จะรายงานในวันนี้ ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ยังได้แรงหนุนจากรายงานคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค (Consumer Inflation Expectations) ที่สำรวจโดยเฟดนิวยอร์ก โดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่างปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งระยะสั้น 1 ปี สู่ระดับ 5.7% (เทียบกับ 6.2% ที่สำรวจในเดือนกรกฎาคม) ระยะกลาง 3 ปี สู่ระดับ 2.8% (จากระดับ 3.2% ในเดือนกรกฎาคม) และ ระยะยาว 5 ปี สู่ระดับ 2.0% (จากระดับ 2.3% ในเดือนกรกฎาคม) นอกจากนี้ ความหวังของผู้เล่นในตลาดต่อการชะลอเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต ได้หนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ต่างปรับตัวสูงขึ้น นำโดย Apple +3.9%, Amazon +2.4% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +1.3% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องราว +1.06%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พุ่งขึ้นต่อเนื่องราว +1.76% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มธนาคาร นำโดย Santander +4.3%, Intesa Sanpaolo +3.4% ท่ามกลางแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากแนวโน้มการใช้มาตรการช่วยเหลือครัวเรือนและภาคธุรกิจจากปัญหาราคาพลังงาน/ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่รับรู้โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมเดือนกันยายนไปมากแล้ว และมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เริ่มคาดหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยลงในอนาคต ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideways ใกล้ระดับ 3.35% และยังคงเห็นได้ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งสหรัฐฯ หรือฝั่งไทย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวลงหนักหรือภาวะถดถอย ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเคลื่อนไหว sideways ต่อ และอาจยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.50% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ไปได้ ยกเว้นว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาดไปมาก และผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง (Terminal Rate อาจสูงกว่าระดับ 4.00% ไปมาก)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงสู่ระดับ 108.2 จุด หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจน ก็อาจสะท้อนว่า เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงได้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ แม้ว่าโดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเคลื่อนไหว sideways ก็ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลง สู่ระดับ 1,737 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญของผู้เล่นในตลาด คือ รายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนสิงหาคม (ตลาดจะรับรู้ข้อมูลในช่วง เวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยตลาดคาดว่า การปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนสิงหาคม จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลงสู่ระดับ 8.1% จาก 8.5% ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.1% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของค่าเช่า รวมถึงราคาค่าบริการต่างๆ ตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายในภาคบริการมากขึ้นและมากกว่าการซื้อสินค้า อนึ่งเราคาดว่า แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลง แต่โดยรวมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังปรับตัวสูงขึ้นและยังได้แรงหนุนจากภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัวอยู่ ทำให้ เรามองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.75% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน ก่อนที่เฟดอาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ หากเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอลงและเศรษฐกิจโดยรวมชะลอลงมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways แม้เงินบาทจะพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต หลังการประชุมเดือนกันยายนได้ หากเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
นอกจากนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ หลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติกลับมาทยอยซื้อหุ้นไทยสุทธิ รวมถึงกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว หลังจากที่บอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวขึ้นมาพอควร ก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง ทั้งนี้ เราคงมองว่า แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 36.20 บาทต่อดอลลาร์ (แนวถัดไปที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ) ซึ่งเป็นโซนราคาที่คาดว่าบรรดาผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศพอสมควร ขณะที่แนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 36.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในระดับดังกล่าว หากเงินบาทมีการอ่อนค่าลงบ้างในช่วงนี้
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาท/ดอลลาร์