รมว.คลัง ชี้โครงการคนละครึ่งอาจไม่จำเป็น หลังบริโภค-ท่องเที่ยวฟื้น หนุนศก.ไทยโตต่อเนื่อง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Enhancing Economic Performance for Thailand Competitiveness : ฟื้นเศรษฐกิจไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน" ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่ จ.อุบลราชธานี โดยในตอนหนึ่งนายอาคม ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เมื่อเทียบปีที่แล้วจะเห็นได้ว่ามีอัตราเร่งขึ้น ขณะที่ในปี 66 ภาคเอกชนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5-4% และภาคการส่งออก ขยายตัวได้ 3-5% ซึ่งเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ หลังผ่อนคลายการเปิดประเทศ ทำให้การบริโภคและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี
ทั้งนี้ ในปี 65 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 10 ล้านคน และในปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานจีนเปิดประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งจากการวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าการฟื้นตัวของไทยยังไม่ทั่วถึง และ IMF นิยามเศรษฐกิจในช่วงนี้ว่าเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากช่วงโควิด-19 โดยประชาชนได้รับผลกระทบ มีการเปลี่ยนงาน เงินเดือนลดลง รายได้น้อยลง ซึ่งเป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย ดังนั้นในอนาคต รัฐบาลจะเน้นการช่วยเหลือที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด ส่วนภาคธุรกิจนั้น รัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะในเรื่องของการฝ่าเรื่องเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมองว่าแรงต้านในปี 2566 ค่อนข้างสูง
ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ จะเร่งเดินหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งให้ภาคเอกชน โดยประเมินว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 8-10 ปี คิดเป็นมูลค่า 5 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นกำลังแรงส่งนอกเหนือจากการบริโภคภายในประเทศ สำหรับด้านการส่งออกนั้น คาดว่าในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 8% โดยอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทที่อ่อนค่า
รมว.คลัง มองว่า ขณะนี้อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงการคนละครึ่งแล้ว เพราะหลังจากเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ อัตราการใช้จ่ายในประเทศเริ่มคึกคัก ประกอบกับมีต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทย ทำให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่ทั่วถึง กลุ่มคนตัวเล็กอาจยังได้รับผลกระทบอยู่ ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินและสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจรายย่อยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบกิจการได้ต่อไป
"ปัจจุบัน การใช้จ่ายของประชาชนเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว โดยวัดจากอัตราการใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 3 ปี 65 ที่ตัวเลขการจับจ่ายของประชาชนก็ออกมาค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปสนับสนุนในโครงการที่รัฐต้องออกเงินช่วย ก็อาจจะลดน้อยลงไป" รมว.คลัง ระบุ
ส่วนมาตรการของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับประชาชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยว และมีความเป็นไปได้ที่อาจมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะมีผลในปี 66