Economies

`สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด` ชี้ต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทย มองปี 66 เศรษฐกิจโต 4.5% แรงส่งท่องเที่ยว-การเมือง `สดใส`
8 ธ.ค. 2565

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ชี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขยายตัว คาด GDP ปี 66 โต 4.5% โดดเด่นกว่าเพื่อนบ้าน อานิสงส์ภาคท่องเที่ยวโตแรง นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย และ"เลือกตั้ง" หนุนรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ  เชื่อต่างชาติมีความเชื่อมั่น หลังปีนี้เงินไหลเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย-บอนด์ 2 แสนล้านบาท  คาดดอกเบี้ยนโยบายแตะ 2%  คุมเงินเฟ้อทรงตัวต่ำกว่า 3%  ค่าเงินบาทอ่อนตัวครึ่งปีแรกและพลิกแข็งค่าสิ้นปีแตะ 26 บ./ดอลลาร์


ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเข้าสู่วัฏจักรขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่คาดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 3.3%  ซึ่งเป็นผลจากภาคท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากในช่วงปลายปีนี้  และปีหน้าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยคาด GDP เติบโต 4.5% ในปี 2566 และ 2567  จากแรงขับเคลื่อน 2 ปัจจัยภายในประเทศ คือ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ (ซึ่งมีสัดส่วน 15%ของ GDP ไทย) ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 15-20 ล้านคน ได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวจีนหากจีนผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด จากปีนี้คาดนักท่องเที่ยวจำนวน 10 ล้านคนซึ่งยังไม่มีชาวจีนเข้ามาไทย 

 

ส่วนอีกปัจจัยมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งในกลางปีหน้า  ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทย ที่จะทำให้มีการเติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า  ส่วนด้านความเสี่ยงการเมืองอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการชุมนุมหรือประท้วงก็คิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมองว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมาก อีกทั้งมีการกำหนดช่วงเวลาการเลือกตั้งชัดเจนแล้ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการฟื้นตัวน่าจะมีความต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งเนื่อง เพราะทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่น่าจะชัดเจนขึ้น 


“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยปัจจัยภายในหลัก 2 ประการนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จึงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเติบโตของไทยในปี 2566 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว และอาจจะมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยในบางประเทศ โดยเราจะติดตามว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกอย่างไร อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวของไทยส่งสัญญาณบวกของการฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ช่วงไฮซีซั่น (ฤดูท่องเที่ยว) ในปี 2566 จะแข็งแกร่งกว่าปี 2565  เนื่องจากปีหน้าหากจีนเปิดประเทศ  และอาจมีการยกเลิกมาตรการ  Zero Covid ราวไตรมาส 2 มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น  จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีมุมมองบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้า ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเทศไทยเคยทำได้ก็ตาม” 


สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของไทยในปี 2566 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการประชุมทั้งปีจำนวน 6 ครั้ง โดยไตรมาสแรกจะเห็นการประชุมนัดแรกเดือนมกราคม 2566 พักการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอดูตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อประเทศต่างๆช่วงต้นปีก่อน และจึงมาปรับขึ้น 0.25% จากปัจจุบันที่อยู่ 1.25%ในการประชุมที่ 2  ส่วนการประชุมครั้งที่ 3 ในช่วงไตรมาส 2 ปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 0.25% และคงปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3  คาดปลายทางดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2%


“เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะไม่แน่นอน เราคาดว่า กนง. จะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในช่วงต้นปี โดยเราคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยให้น้ำหนักการฟื้นตัวของเศรษฐกินมากกว่าเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และการเคลื่อนไหวของเงินทุน" ดร.ทิม กล่าวเสริม 

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 2566  น่าจะยังคงอ่อนตัวอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังตามปัจจัยที่ได้กล่าวข้างต้น เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ราว 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี โดยเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าจากความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นมองประเทศไทยมีเสน่ห์น่าลงทุนมากขึ้น หลังจากปี 2564 เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นราว 5 หมื่นล้านบาท แต่ปี 2565 นี้มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยถึง 2 แสนล้านบาท และไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) มากเช่นกัน  สะท้อนถึงความเชื่อมั่นประเทศไทยในปีถัด ๆไป 

 

โดยในช่วงครึ่งปีแรกยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกแค่ชะลอตัวไม่ได้ถดถอย แต่อาจจะมีบางประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และอังกฤษ ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีความไม่แน่นอน จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรในช่วงปีแรก ส่วนเศรษฐกิจจีน คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ จากการเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero Covid และฉีดวัคซีน จะทำให้การบริโภคภายในประเทศจีนกลับมาขยายตัวมากขึ้นจากด้านอุปสงค์(ความต้องการบริโภค) แต่ก็อาจจะเห็นความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของจีนเพิ่มขึ้นในปีหน้า แม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อโลกในปีหน้าจะมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงต่ำกว่าปีนี้ ทั้งนี้ คาด GDP จีนเติบโต 5.8%จากปีนี้คาดโต 3% ส่วนปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ฟองสบู่แตก เชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และเป็นตัวหลักที่ทำให้เศรษฐกิจในแถบเอเซียมีความโดดเด่นกว่าฝั่งตะวันตก


อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของเงินเฟ้อโลกยังต้องติดตามอยู่ อาจเป็นการปรับตัวขึ้นลักษณะ W shape แม้ตอนนี้เห็นเงินเฟ้อลงแต่ก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้เช่นกัน ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยในส่วนของประเทศไทย เงินเฟ้อเริ่มลดลงในช่วงปลายปีนี้ ส่วนปีหน้าคาดว่าเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 1-3% โดยคาดว่าปี 2566 เงินเฟ้อ 2.7% และปี 2567 เงินเฟ้อ 2.8% 


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com