Economies

ธปท.โล่งเศรษฐกิจไทยออกจากก้นหลุม...รอเวลาฟื้น GDP ไตรมาส 3 วูบ ตลาดแรงงานอ่อนแอ ชี้ 2 เสี่ยงเปิดประเทศ
29 ต.ค. 2564

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ธปท. ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19  กลับมาเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่ถึงกับเกิดปัญหาการติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดการที่ดีทั้งการควบคุมโควิดและเรื่องวัคซีน อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ประเมินความเสี่ยงทั้ง 2 ด้านไว้อยู่แล้ว คือ ด้าน Upside risk จากโอกาสที่เศรษฐกิจฟื้นตัว  กับ downside risk ความเสี่ยงขาลงจากโควิด

“ในเดือนตุลาคมนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนกันยายน แต่ถึงแม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา ทำให้คนมีรายได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถถมหลุมรายได้ขนาดใหญ่และลึกมากได้ในช่วงโควิด เพียงแต่ว่าสถานการณ์มันจะค่อยๆดีขึ้นบ้างในบางด้าน แต่ยังไม่ถึงกับเห็นสัญญาณชัดเจน  ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน และยังต้องพึ่งมาตรการการคลังช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อไป แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นแสงสว่างแต่อย่างน้อยตอนนี้เศรษฐกิจไทยออกมาจากก้นหลุมแล้ว”นางสาวชญาวดี กล่าว

ธปท. ได้รายงานข้อมูลจากการสอบถามผู้ประกอบการเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในหลายภาคธุรกิจเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้แก่ ภาพผลิต โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ภาคบริการ นำโดยโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งสินค้า ภาคอสังหาริมทรัพย์ นำโดย กลุ่มบ้านแนวราบและก่อสร้างต่างๆ ภาคการค้า ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน (ดูภาพประกอบ)

 

 

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หลักๆมาจากรัฐมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศดีขึ้น และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว  ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ (ความต้องการ) ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานในไทยที่คลี่คลายลง  ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม “เพิ่มขึ้น” ในหลายหมวด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังคงกดดันการผลิต โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

“ปัจจัยที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว “เพิ่มขึ้น” จากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด จาก 1) การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับดีขึ้น 2) ผลของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากช่วงก่อนหน้า และ 3) มาตรการภาครัฐที่ยังช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง”นางสาวชญาวดี กล่าว

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจผ่านเงินโอนทั้งจากโครงการคนละครึ่งและยิ่งใช้ยิ่งได้ และผ่านรายจ่ายประจำที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน

ด้านการลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ก็ “เพิ่มขึ้น” จากเดือนก่อน ทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ดีขึ้น และหมวดก่อสร้างที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นบ้างจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ประเทศ
คู่ค้าที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศคลี่คลาย รวมทั้งภาคการผลิตของไทยที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าหลายหมวดปรับดีขึ้น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง  นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าบางประเภทลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำจำนวน 12,237 คน  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่หลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้ แล้ว  ธปท. จะมีการประเมินสถานการณ์ภาคท่องเที่ยวและปรับตัวเลขประมาณการณ์ในเดือน ธ.ค. นี้ อีกครั้ง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด ณ สิ้นกันยายนที่ผ่านมา ขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ น้อยกว่าเดือนก่อนขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากการเกินดุลการค้าที่สูงขึ้น และด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน และปรับตัวอ่อนค่าลงในเดือนตุลาคม ตามเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐสิ้นสุดลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

“เรายังมองว่า  ไม่ว่าปีนี้หรือปีหน้า อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ยังไม่ได้สูงมากนัก  โดยกันยายนอยู่ที่ 1% เป็นกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวรูป K-Shaped ที่ขาล่างของ K ยาวมากกว่า สะท้อนการฟื้นตัวที่อยู่ระดับต่ำของหลายภาคธุรกิจ และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เพราะฉะนั้น สัญญาณการปรับนโยบายการเงินของไทย จะดูเรื่องการการให้น้ำหนักอยู่ที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีก่อน จึงแตกต่างกับกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อสูง เช่นสหรัฐ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว จึงมีแรงกดดันต้องปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมเร็วกว่าหลายๆประเทศ” นางสาวชญาวดีกล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ทั้งนี้ เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน “ลดลง” จากไตรมาสก่อนตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ

ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง จากการแพร่ระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้นที่ทำให้อุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอตัว สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ โดยการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นบ้างหลังการเปิด sandbox ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง เนื่องจากผลของฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อนหมดลงเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

ด้านตลาดแรงงานโดยรวมยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับพื้นที่อุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังคงคาดการณ์คนว่างงานและผู้เสมือนว่างงานอยู่ที่จำนวน 3.4 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้

 สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมคลี่คลาย เหลือเพียงน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบต่ำและพื้นที่ลุ่มการเกษตร โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจมีจำกัด

“กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบน้อย ส่วนกลุ่มการเกษตรได้รับผลกระทบจากพื้นที่เกษตรที่เสียหาย 5.3 ล้านไร่ ธปท. ประเมินมูลค่าความเสียหายภาคเกษตร ส่งผลกระทบต่อ GDP ประมาณ  0.1% ขณะที่ในเดือนนี้ยังมีพายุ “ญาโตะฮ์”อีกลูกในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้” นางสาวชญาวดีกล่าว

 

 

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com