Economies

เงินบาท“ทรงตัว”เปิดเช้านี้ที่ 35.40 บาท/ดอลลาร์  รอลุ้นเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์
12 มี.ค. 2567

เงินบาท“ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดเช้านี้ที่ 35.40 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯเดือนกุมภาพันธ์ Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินกรอบเงินบาท 35.25-35.65 บาท/ดอลลาร์ ช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.40 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.37-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็ระมัดระวังตัวมากขึ้นก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ (19.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย) อนึ่ง เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศ หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงระยะสั้น ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Meta -4.4%, Nvidia -2.0% รวมถึงบรรดาหุ้นสไตล์ Growth อื่นๆ เพื่อเป็นการปรับลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันอังคารนี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.41% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.11% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลดลง -0.35% ตามแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ นำโดย ASML -4.2%, SAP -1.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare อาทิ AstraZeneca +2.5%, Roche +1.6%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ทว่าความกังวลดังกล่าวก็มาจากประเด็นอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 4.10% อีกครั้ง ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่ตลาดคาดหวัง หรือในกรณีเลวร้าย อัตราเงินเฟ้อ CPI กลับเร่งตัวขึ้น จน “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างระมัดระวังตัวและอาจปรับสถานะถือครอง อาทิ ทยอยลดสถานะ Long JPY หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้แข็งค่าขึ้นเร็วและแรงในช่วงก่อนหน้า ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในคืนวันอังคารนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.6-102.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2,180-2,190 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นและลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท 
 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจทรงตัวที่ระดับ 3.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ไม่รวมผลของพลังงานและอาหารสด อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.7% เปิดโอกาสให้เฟดยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้างในปีนี้ 


ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบใกล้ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาพอสมควรในระยะสั้น นอกจากนี้ แรงขายหุ้นไทยก็อาจยังมีอยู่บ้าง ตามบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง เราคาดว่า ก่อนจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เงินบาทก็อาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล ยกเว้นว่า ในช่วงรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ราว 14.00 น. เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) จะผันผวนอ่อนค่าหนัก หากยอดการจ้างงานอังกฤษ หรือ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่


และที่สำคัญ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. เพราะหาก อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงอย่างที่คาดหวัง (ต้องจับตาทั้งข้อมูล %y/y และ %m/m หรือ โมเมนตัมการเปลี่ยนแปลงรายเดือน) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลต่อแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดได้ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก กดดันทั้ง ราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 35.65 บาทต่อดอลลาร์


ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรืออาจชะลอลงมากกว่าคาดเล็กน้อย เราคาดว่าก็อาจไม่ได้ช่วยให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงไปมากกว่าระดับปัจจุบันมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ราว 3-4 ครั้งไปมากแล้ว ทำให้เงินบาทก็อาจแข็งค่าติดอยู่ในโซนแนวรับแถว 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้  


เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง


มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ  


และประเมินกรอบเงินบาท 35.25-35.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com