Economies

บาทอ่อนแนวต้านถัดไป 36.50/ดอลลาร์ กังวลเศรษฐกิจหลัก สหรัฐฯ-ยุโรป สู่สภาวะถดถอย
7 ก.ค. 2565

ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนักมาก แตะ 36.23 บาท/ดอลลาร์ แนวต้านถัดไปที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ กังวลเศรษฐกิจหลัก สหรัฐฯ-ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย 


คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.23 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.10 บาทต่อดอลลาร์
 

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงิน หลังจากที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสหรัฐฯ (ISM Services PMI) ในเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 55.3 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยดังกล่าวนั้น ได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 100.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 98.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตามลำดับ สร้างแรงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป
 

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าดัชนี S&P500 จะปรับตัวลดลงตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยในช่วงแรก แต่ดัชนี S&P500 ก็สามารถปิดตลาด +0.36% หนุนโดยความต้องการซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare (Pfizer +2.2%, United Health +2.0%) รวมถึงกลุ่ม Utilities (DUKE Energy +1.2%, Nextera Energy +0.6%) นอกจากนี้ นักลงทุนบางส่วนยังคงเดินหน้าซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft +1.3%, Alphabet (Google) +1.2% หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงพร้อมกับการปรับตัวลงของราคาน้ำมันก็ยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะยิ่งทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง  
 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็สามารถพลิกกลับมา +1.66% หนุนโดยข่าวการยุติการประท้วงหยุดงานของคนงานบริษัทพลังงานใหญ่ของนอร์เวย์ (Equinor) ทำให้ตลาดคลายกังวลวิกฤติพลังงานของยุโรป นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen +9.0%, ASML +3.1% รวมถึงการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ส่วนใหญ่มีรายได้จากต่างประเทศ หลังเงินยูโรอ่อนค่าลงหนัก Hermes +5.1%, Dior +4.9%
 

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 2.80% ก่อนที่บอนด์ยีลด์จะปรับตัวขึ้น ตามการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สู่ระดับ 2.93% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการว่างงาน (รายงานวันศุกร์นี้) และรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 107.1 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่ารุนแรงของ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) โดยเฉพาะเงินปอนด์ (GBP) ที่อ่อนค่าลงแรงสู่ระดับ 1.191 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางวิกฤติการเมืองอังกฤษ หลังรัฐมนตรีหลายกระทรวงยื่นใบลาออก เพื่อกดดันให้นายกฯ อังกฤษ Boris Johnson ลาออก ทั้งนี้ การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,738 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตาแนวรับถัดไปใน โซน 1,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ว่าจะมีแรงซื้อทองคำหนุนราคาทองคำให้รีบาวด์กลับขึ้นมาได้หรือไม่ แต่โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน
 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เพื่อประเมินแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ โดยหากการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นได้ราว 2 แสนราย ก็อาจยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและช่วยลดความกังวลเศรษฐกิจถดถอยลงไปได้บ้าง
 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอวิเคราะห์รายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อสูง ขณะที่ภาพเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงมากขึ้น โดยต้องระวังกรณีที่รายงานการประชุม ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณว่า ECB อาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยังคงเป็นแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR) ได้
 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งเรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อีกทั้ง ECB ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟด ก็อาจจะยังเป็นปัจจัยที่หนุนเงินดอลลาร์และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อได้ในระยะนี้ได้ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง 


อย่างไรก็ดี แม้เราจะยังมองว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะเริ่มกลับตัวมาแข็งค่าได้ แต่ต้องระวังความเสี่ยงที่ทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าแตะแนวต้านถัดไปที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้
 

อย่างไรก็ดี  เรามองว่า ความผันผวนสูงของเงินบาทในช่วงนี้ (เงินบาทอ่อนค่าเร็ว) อาจทำให้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน
 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาท/ดอลลาร์

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com