ธอส. ประกาศผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 253,860 ล้านบาท เกินเป้าหมาย กวาดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง จำนวนกว่า 1.2 แสนราย เผย NPL จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87%
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เผยผลงาน ณ สิ้นปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท โดยปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 3.84% ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 สินเชื่อคงค้าง 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% สินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ผ่านมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้ว 3,853 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 4,544 ล้านบาท
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปี 2566 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังคงสามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท จำนวน 97,730 บัญชี สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 116,817 ราย อยู่ที่ 3.84% ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% มีสินทรัพย์รวม1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้และยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้
โดยธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต และกำไรสุทธิที่ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่15.21% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%
ขณะเดียวกัน ธอส. ยังเดินหน้าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามความเหมาะสมต่อเนื่องจากปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาลกระทรวงการคลัง และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” ประกอบด้วย
1. มาตรการภาคครัวเรือน “HD1”สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี
2. มาตรการภาคครัวเรือน “HD2” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท
และ 3. มาตรการภาคครัวเรือน “HD3” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 4 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี
ทั้งนี้ ได้เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL BFRIEND และสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ณ วันที่ 24 มกราคม 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น3,853 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 4,544 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธอส. ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND
“ปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2566 ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร ที่ถือว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ของเป้าหมายในปี 2566 ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว” นายกมลภพ กล่าว