ค่าเงินบาททรงตัว คาดวันนี้กรอบการเคลื่อนไหวน่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางความคาดหวังว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยมาก อย่างที่ตลาดเคยกังวล รอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน
คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า
ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หนุนให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 สามารถปรับตัวขึ้นกว่า +1.99% ท่ามกลางความคาดหวังว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปได้มาก อย่างที่ตลาดเคยกังวลไว้ หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มสะท้อนภาพการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจ โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังได้รายงานตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของ จีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวกว่า -1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี แย่ลงจากประมาณการครั้งแรกและแย่กว่าที่นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มค้าปลีก หลังจากที่ Macy’s ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ได้ประกาศผลกำไรดีกว่าคาด พร้อมปรับประมาณการรายได้สูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยลดความกังวลผลกระทบต่ออัตราผลกำไรจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 สามารถปรับตัวขึ้นราว +2.54% หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ วงเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูงและช่วยหนุนการใช้จ่ายของผู้คน ทำให้หุ้นกลุ่มค้าปลีกรวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Louis Vuitton +3.7%. Kering +3.5%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.75% แม้ว่าตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังคงผันผวนต่อ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะมีมุมมองที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินทิศทางดอกเบี้ยอีกครั้ง ผ่านคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 101.8 จุด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.261 จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลอังกฤษ อนึ่ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังแกว่งตัว sideways นั้น กลับไม่ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเดินหน้าทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำยังคงติดแนวต้านในช่วง 1,850-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อ PCE เดือนเมษายนอาจชะลอลงสู่ระดับ 6.2% ซึ่งแนวโน้มการชะลอตัวลงของเงินเฟ้ออาจช่วยลดความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อรวมถึงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของเฟดได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดรวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งแข็งค่าขึ้นได้บ้างระหว่างวัน อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก เนื่องจากผู้นำเข้าบางส่วนอาจทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ตลาดค่าเงินอาจเคลื่อนไหวผันผวนและต้องระวังในกรณีที่เงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ตลาดอาจกลับมากังวลปัญหาเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
ทั้งนี้ เรามองว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจอยู่ในโซน 34.00-34.40 จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์