แบงก์ชาติเผยความคืบหน้าโครงการทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ข้อมูลสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ มีโครงการเข้าทดสอบแซนด์บ็อกซ์ 78 โครงการ ขณะที่โครงการที่ประสบผลสำเร็จและออกให้บริการวงกว้างแล้ว 38 โครงการ นำโดย โครงการ QR Code เพื่อชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 18 โครงการ ตามด้วยการยืนยันตัวตนด้วย Biometrics 10 โครงการ การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนออกหนังสือค้ำประกันและโอนเงินต่างประเทศ 9 โครงการ และขอสินเชื่อ P2P 1โครงการ
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา ได้สนับสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-bank) พัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในบริการทางการเงิน ผ่านกลไก Regulatory Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถทดสอบให้บริการจริงภายใต้ขอบเขตที่กำหนด ควบคู่ไปกับการดููแลความเสี่่ยงและคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม และต่อมาได้ ธปท. ได้เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการทางการเงินสามารถทดสอบนวัตกรรมได้เองผ่านกลไก Own Sandbox ในกรณีที่เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขณะที่ โครงการที่เข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox เน้นโครงการที่ถูกออกแบบหรือพัฒนาเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรฐานกลาง ซึ่งต้องการการทดสอบร่วมกันในวงกว้าง หรือกรณีที่มีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องเข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox จนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2565 มีโครงการที่เข้ามาทดสอบใน Regulatory Sandbox แล้ว ทั้งหมด 78 โครงการ
โดยโครงการที่การทดสอบประสบผลสำเร็จและออกให้บริการในวงกว้างแล้ว จำนวน 38 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ QR Code เพื่อชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 18 โครงการ ตามด้วยการยืนยันตัวตนด้วยลักษณะทางชีวภาพของแต่ละบุคคล (Biometrics)แบ่งเป็นเฟสแรก Facial Recongnition และเฟส 2 NDID รวม 10 โครงการ การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์และการโอนเงินระหว่างประเทศ 9 โครงการ และการขอสินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P lending platform) 1 โครงการ (ดูรายละเอียดตารางประกอบ)
นางสาวสิริธิดา กล่าวเพิ่มว่า ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. ในปี 2565 นี้ ธปท. จะยังมุ่งเน้นผลักดันและสนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของประเทศ รวมทั้งยกระดับสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยต่อไป