ค่าเงินบาท“ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดเช้านี้ที่ 34.82 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินกรอบการเคลื่อนไหววันนี้ 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญ รายงานดัชนี PMI เดือนพฤศจิกายนของจีน รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ส่วนฝั่งสหรัฐ รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.75-34.92 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้จะมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงหลัง
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยมีเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดจำนวนหนึ่งก็ออกมาสนับสนุนแนวโน้มเฟดทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.09%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.45% หนุนโดยความหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ตามภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรปต่างย่อตัวลงและช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML +1.5%, SAP +1.4%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 จะมีการปรับดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนและดีกว่าที่ตลาดคาดเป็น +5.2% จากไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนจะยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อของเฟด ก็ยังไม่สามารถทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเหนือโซน 4.30% ไปได้ ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงเล็กน้อย และแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.26% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ในปีหน้า และอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการปรับมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและลึกขึ้นจากที่ผู้เล่นในตลาดเคยมองไว้ อย่างไรก็ดี การปรับมุมมองใหม่ของบรรดาผู้เล่นในตลาดังกล่าว ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ยังคงส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน ทั้งนี้ เรายังมองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway และแกว่งตัวไปตามทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.8 จุด (กรอบ 102.6-103 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดรวมถึง ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทรงตัวเหนือระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนพฤศจิกายน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.1 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ขณะที่ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน อาจยังอยู่ในภาวะหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิต จะยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จุด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดหวังว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเคลื่อนไหวแบบ two-way ซึ่งจะขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเราเริ่มเห็นความเสี่ยงด้านอ่อนค่า มากกว่าการแข็งค่า หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ในปีหน้าและเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ทว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ก็ยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนมากนัก ทำให้มีความเสี่ยงที่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ PCE ในคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาด และยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งอยู่ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ เงินบาทและราคาทองคำย่อตัวลงได้
อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจหนุนให้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่เงินบาทก็อาจยังติดโซนแนวรับแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เรายังคงเห็นโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศจากบรรดาผู้ประกอบการในช่วงปลายเดือน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน ในช่วงทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของจีน เพราะหากออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้ เงินหยวนจีนทยอยแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้ ในทางกลับกัน ข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่แย่กว่าคาด ก็อาจกดดันเงินหยวนจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชียให้อ่อนค่าลง โดยในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็อาจอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่ายนัก
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์