Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.50 บาท/ดอลลาร์ หลังเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” ไฮไลท์สำคัญวันนี้ ติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ และสงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.37 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.28-36.47 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ยังคงหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ส่งผลให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็ช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.01% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้างตามรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อย่าง BofA ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดกลับยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังสถานการณ์สงครามยังคงมีความไม่แน่นอนจากรายงานการระเบิดของโรงพยาบาลในฉนวนกาซา นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังถูกกดดันจากการที่ ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนระงับการส่งออกชิพ ไปยังจีน รวมถึง ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน จากรายงานยอดค้าปลีกล่าสุดที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาดไปมาก
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลง -0.10% กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปยังไม่ค่อยสดใสนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของเฟด (Higher for Longer) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.84% อย่างไรก็ดี แม้ว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ จะผันผวน ทว่า เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ชัดเจน ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ทว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ยังคงช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถทรงตัวใกล้ระดับ 1,937 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อทะลุโซนแนวต้าน 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้หรือไม่ เนื่องจากการปรับตัวขึ้นทะลุโซนดังกล่าวจะสะท้อนว่า ราคาทองคำเริ่มมีแนวโน้มกลับมาเป็นขาขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน (ทยอยรับรู้ในช่วง 9.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวราว +4.5%y/y ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็เป็นการขยายตัว +1.0%q/q สะท้อนภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศ หลังการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนกันยายน ที่ยอดค้าปลีกอาจโตได้ +4.9%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจขยายตัว +4.3%y/y ทั้งนี้ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจโตเพียง +5.2%y/y, YTD กดดันโดยภาคอสังหาฯ ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนกันยายน โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง (โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI) ก็อาจทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ต่อไปได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideway ในกรอบที่ไม่ต่างจากวันก่อนหน้ามากนัก ท่ามกลางสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นแรงตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้วันนี้ บอนด์ยีลด์ไทยก็เสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้อาจมีแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติมได้ ส่วนในฝั่งหุ้น บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงก็อาจกดดันตลาดหุ้นไทยต่อในช่วงนี้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาตามคาด หรือ ดีกว่าคาด ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น เรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินหยวนของจีนทยอยแข็งค่าขึ้น และอาจช่วยหนุนการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียได้บ้าง โดยเฉพาะค่าเงินบาท ที่ช่วงหลังมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเงินหยวนของจีนบ้าง (Correlation ล่าสุด ราว +50%) ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจส่งกดดันทั้งเงินหยวนของจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชีย อนึ่ง ในเบื้องต้น เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทยังคงอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกก็ยังอยู่แถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้เล่นในตลาด
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.50 บาท/ดอลลาร์