Krungthai GLOBAL MARKETS คาดค่าเงินบาทยังแกว่งตัว มองกรอบสัปดาห์นี้ 37.80-38.50 บาท/ดอลลาร์ จับตาทิศทางราคาทองคำ และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ส่วนตลาดโลกรอจับตา การประชุมธนาคารกลาง ECB และ BOJ รวมถึงรายงานผลประกอบการบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 38.14 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 38.34 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ได้ช่วยหนุนให้ตลาดอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On)
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา การประชุมธนาคารกลางหลักสำคัญ อาทิ ECB และ BOJ รวมถึง รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alphabet, Amazon และ Meta
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดประเมินว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนตุลาคม ที่ออกมาแย่กว่าคาด โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 49.9 จุด และ 46.6 จุด ตามลำดับ (ดัชนีน้อยกว่า 50 หมายถึง ภาวะหดตัว) กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูง การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ รวมถึงผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด
นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดย Conference Board (Consumer Confidence) จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 105.5 จุด ตามแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อสูง ที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของชาวอเมริกัน รวมถึงผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจะสะท้อนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ทว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิดจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยตลาดคาดว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ในเดือนกันยายนจะเร่งขึ้นแตะระดับ 5.2% ทำให้เฟดยังไม่สามารถส่งสัญญาณชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในระยะสั้น
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Alphabet, Amazon, Meta, Microsoft และ Visa โดยหากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินให้อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้
ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์จะทำให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง +0.75% สู่ระดับ 1.50% (Deposit Facility Rate) อย่างไรก็ดี ECB อาจไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนและย้ำมุมมอง “Data Dependent” ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังมีมุมมองเชิงลบต่อค่าเงินยูโร (EUR) กดดันให้เงินยูโรมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้
นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีที่ไม่สดใสจะยิ่งกดดันให้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ในเดือนตุลาคม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 83.5 จุด ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูง แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงความเสี่ยงวิกฤตพลังงานยุโรป อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษที่เพิ่งเสร็จสิ้นการคัดเลือกผู้นำพรรค Conservative และ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็คือ นาย Rishi Sunak อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเคยทำงานในตลาดการเงินทั้งในฝั่ง Investment Bank และ Hedge Fund
ฝั่งเอเชีย – ตลาดจะรอจับตาการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากที่ BOJ ได้เข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเยน (JPY) ในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการหยุดไม่ให้เงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% และเดินหน้านโยบาย QQE ด้วยการตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นให้ไม่เกินระดับ 0.25% ไปมาก ทำให้ในระยะสั้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้ จนกว่า BOJ จะเริ่มส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงิน หรือ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นชัดเจนหลังการเดินหน้าเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า ผลกระทบของการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกจะกดดันให้ยอดการส่งออกของไทยโตเพียง +4.4%y/y ในขณะที่ยอดการนำเข้ายังคงอยู่ในระดับสูงและขยายตัวกว่า +20%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าในเดือนกันยายนจะยังคงขาดดุลราว -2.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากดุลการค้าขาดดุลกว่าคาดและยังมีทิศทางขาดดุลต่อเนื่องก็อาจกดดันการฟื้นตัวของดุลบัญชีเดินสะพัด แม้จะเริ่มมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นก็ตาม ทำให้เงินบาทอาจไม่สามารถแข็งค่าขึ้นไปได้มากในปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทจะยังแกว่งตัว Sideways โดยมีแนวต้านสำคัญที่ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่จะส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ได้ โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย ซึ่งสอดคล้องกับการรีบาวด์ของดัชนี SET ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากดัชนี SET สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,600 จุดได้อย่างชัดเจนและบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงเปิดรับความเสี่ยง เราคาดว่าอาจเห็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยมากขึ้นได้ แต่จุดที่ต้องระวัง คือ แรงขายบอนด์ระยะยาวจากนักลงทุนต่างชาติ หากบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ควรระวังความผิดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ที่อาจกดดันให้ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ผลการประชุมของธนาคารกลางหลักทั้ง ECB และ BOJ ก็อาจส่งผลให้ตลาดค่าเงินผันผวนขึ้นและทั้งสกุลเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจอ่อนค่าลง หากทั้งสองธนาคารกลางไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.80-38.50 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38.00-38.25 บาท/ดอลลาร์