ธปท. ส่งสัญญาณเศรษฐกิจ Q2 เป็นจุดเปลี่ยน หลังตัวเลขเครื่องยนต์หลายๆ ตัวเริ่มกลับเป็นบวก ภาคท่องเที่ยวดีต่อเนื่อง การบริโภค-ลงทุนในภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ภาครัฐยังหดตัว มั่นใจ GDP โตดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อคาดค่อยๆกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3%
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/2567 ว่า หลังจากที่ไตรมาสแรก GDP โต 1.5% ซึ่งออกมามากกว่าที่ ธปท. และ ตลาดคาดไว้ที่ % และ 0.8% ตามลำดับ ถือเป็นจุดตั้งต้นของปีนี้ และแนวโน้มไตรมาส 2 นี้ ธปท. ประเมินว่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ตามที่กนง. แถลงช่วงที่ผ่านมา โดยเดือนเมษายน เศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ขยายตัวสอดคล้องกับรายรับภาคการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในเดือนก่อน สำหรับการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่าย
ในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ
“แนวโน้มไตรมาส 2 ยังต้องดูพัฒนาการเศรษฐกิจต่อไป แต่เชื่อว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดเปลี่ยน หรือ Turning Point เพราะตัวเลขหลายๆ ตัวเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่ก็ต้องติดตามว่าตัวเลขเหล่านี้ จะยั่งยืนมากน้อยเพียงใด”
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกจากหมวดอาหารสดตามราคาผักและเนื้อสุกร และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน
สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเมษายนขยายตัวได้ 0.19% เร็วกว่าที่ กนง.ประเมินไว้ จะเห็นในเดือน พ.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา ไทยเกิดภาวะเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องมานานถึง 6 เดือน สาเหตุที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบล่าง (จากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%) ส่วนหนึ่งมาจากด้านอุปทานค่อนข้างมาก ทั้งราคาพลังงานที่มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ประกอบกับสินค้ากลุ่มอาหารสด
“สิ่งที่ ธปท. ติดตามอยู่คือ ราคาสินค้าในตระกร้า 300-400 รายการ มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งพบว่าสินค้าโดยรวมยังใกล้เคียงเดิม สะท้อนว่าดีมานด์ (กำลังซื้อ) ไม่ได้แย่ลง และอีกด้านที่เห็นคือ เงินเฟ้อคาดการณ์ของเอกชน ทั้งจากผู้ผลิต ที่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เมื่อมองไปข้างหน้าก็ยังเห็นเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อยทะยอยปรับสูงขึ้น แต่ยัง inline อยู่ ซึ่งธปท.ยังจับตาดูอย่างใกล้ชิด“
ด้านการส่งออกไทย แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนเม.ย. จะกลับมาเป็นบวก หลังจากเดือนมี.ค. หดตัว 10% ซึ่งการที่หลายสำนักวิจัย ได้ปรับลดคาดการณ์ภาคส่งออกของปีนี้ ในส่วนของ ธปท. ไม่ได้มองว่า ปีนี้ ภาคส่งออกจะขยายตัวสูงอยู่แล้ว โดยปีนี้ คาดการณ์การส่งออกขยายตัว 2% ถือว่าเป็นระดับกลางถึงต่ำ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการเป็นสำคัญ
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมหลังออกจากเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะจากมาเลเซียและตะวันออกกลาง ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นหลังลดลงในเดือนก่อน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก หลังชะลอลงในช่วงก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว ด้านหมวดสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับหมวดสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองในงานจัดแสดงรถยนต์ (Motor Show) อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในประเด็นเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนโดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นตามการยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับลดลงจากหมวดคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ด้านการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน และเพื่อที่อยู่อาศัย
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ทั้งนี้ แม้การผลิตรถยนต์จะปรับดีขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ 2) หมวดอาหารและเครื่องดื่มจากน้ำตาล น้ำมันปาล์ม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สอดคล้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น และ 3) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศจากอุปสงค์ในประเทศที่สภาพอากาศร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ และฮ่องกงเป็นสำคัญ 2) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถกระบะไปอาเซียนและออสเตรเลีย และรถยนต์นั่งไปอาเซียน และ 3) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกทุเรียนไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ หมวดปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) เชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 2) วัตถุดิบขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อน รวมถึงการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้น จากการนำเข้ารถยนต์เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ และจากหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกจากหมวดอาหารสดตามราคาผักที่ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อน และเนื้อสุกรที่อุปทานลดลง และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงานเป็นสำคัญ
ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก จากการที่ตลาดเลื่อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯออกไป และมีความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่อาจยกระดับความรุนแรง