รมช. คลัง 'กฤษฎา' เปิดแผนลดหนี้ครัวเรือน สั่ง"ออมสิน" เป็นเจ้าภาพตั้งศูนย์รวมบริหารหนี้เสียรายย่อย ศึกษาแนวทางรับโอนหนี้เสียจากทุกแบงก์ ชูรูปแบบ AMC ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง สูตรแบ่งผลประโยชน์กำไร-ขาดทุน (profit&loss sharing) มั่นใจเห็นผลสัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงแน่
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.7 ล้านรายแล้ว หลังจากนี้ได้มอบหมายให้นโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐดำเนินการเร่งช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งในส่วนของหนี้ดีและหนี้เสียทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยลดสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศได้
โดยขณะนี้ได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน ช่วยดูแลลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดี ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจ่ายค่างวดเท่าเดิม จะได้ลดเงินต้นมากขึ้น ทำให้หมดหนี้ ได้เร็ว ส่วนของหนี้เสีย กำลังผลักดันให้ทุกสถาบันการเงินทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs) และธนาคารพาณิชย์ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้รายบุคคล โดยอยากให้นำหนี้เสียมารวมไว้ในที่สถาบันการเงินรัฐแห่งเดียว ซึ่งจะดำเนินการคล้ายธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) แต่ครั้งนี้ มีความตั้งใจจะให้ธนาคารออมสินรับเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากขณะนี้ออมสิน กำลังจะดำเนินการโครงการนำร่อง (Pilot Project) กับกลุ่มลูกหนี้ของออมสินก่อน จึงได้ให้ศึกษาดูว่าจะรับทำในส่วนของสถาบันการเงินมาด้วย
สำหรับแนวทางการดำเนินการบริหารหนี้เสีย ผู้รับซื้อหนี้เสียมาบริหาร จะเป็นผู้ออกตั๋วเงินให้แก่ผู้ขายลูกหนี้ออกมา และจะทำการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ และ อาจจะมีการพิจารณาการแบ่งผลประโยชน์กำไร-ขาดทุน (profit/loss sharing) จากการบริหารหนี้ ซึ่งจะขึ้นกับการพิจารณาร่วมกัน เพราะแต่ละสถาบันการเงินมีต้นทุนต่างกันแม้จะมีการตั้งสำรองหนี้กันแล้วก็ตาม ซึ่งแนวทางดำเนินการนี้จะคล้ายการจัดตั้งองค์กรบริหารหนี้เสีย (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) เมื่อช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540
สำหรับเงินที่ได้จากการบรืหารหนี้เสีย ก็จะนำไปหักกลบชำระหนี้กับตั๋วเงินที่ออกให้สถาบันการเงินที่ขายหนี้ออกมา