Economies

ธปท. ไขปมร้อน`การลดดอกเบี้ย` ต้องดู 3 ปัจจัย ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ  ยันเดินนโยบายการเงิน `ไม่ผิดทาง`
15 ม.ค. 2567

ธปท. เปิดแถลง "แนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ" มั่นใจเดินนโยบายดอกเบี้ย 'ไม่ผิดทาง' ย้ำดอกเบี้ยไทย  2.5% ต่ำมากเทียบกับโลก สามารถรองรับเศรษฐกิจ  เชื่อไม่เป็นอุปสรรคฉุดรั้ง ชี้ลด ดบ. ต้องเู 3 ปัจจัย 'เงินเฟ้อลง  เสถียรภาพศก. และระบบสถาบันการเงิน' ยอมรับการทำนโยบายดอกเบี้ยอาจไม่ถูกเป๊ะ 100% มีความยากลำบากและท้าทาย เพราะมีผู้ได้-ผู้เสียประโยชน์ ที่ผ่านมารับฟังเสียงสะท้อนทุกภาคส่วน

 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  แถลงหัวข้อ  “ธปท. เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ”  เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวในหลายมิติ  แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล โดยขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและภาคการผลิต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกไทยขยายตัวต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง หากดูดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายๆประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยที่ปรับลดลงเร็ว ช่วยจำกัดค่าครองชีพไม่ให้สูงขึ้น แต่เงินเฟ้อต่ำเนื่องมาจากมาตรการรัฐ ขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง  ธปท.จึงยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นว่าเป็นทิศทางที่จะเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ 2% ส่วนหนี้ที่อยู่ระดับสูง ยังเป็นจุดเปราะบางที่สำคัญของเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับโลกที่นำโดยดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่อยู่ 5.25-5.50% 

 

สำหรับคำถามว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยดีแล้วทำไมไม่ปรับลดดอกเบี้ย นายปิติกล่าวว่า    การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ไม่ได้พิจารณาแค่อัตราเงินเฟ้อลดงอย่างเดียว แต่ต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินด้วย  ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังมีสภาพคล่องที่ดี และยังมีการปล่อยสินเชื่อโดยรวม และไม่ใช่แค่มองภาพในระยะสั้นแต่ยังต้องมองในระยะยาวด้วย  เพราะฉะนั้น จึงเป็นความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงิน และจะมีผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์เกิดขึ้นเสมอ ด้วย พร้อมกับยืนยันว่า กนง. ไม่ได้เดินนโยบายการเงินผิดทางดอกเบี้ยระดับดังกล่าวเหมาะสมกับศรษฐกิจที่ยังสามารถอยู่ในขอบเขตที่ใช้ได้ 

 

“กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเปลี่ยนแปลง  เงินเฟ้อที่ยังขึ้น ๆ ลง ๆเราต้องดูข้อมูลอย่างใกล้ชิด และดูหลากหลาย ซึ่งมีหลายมิติที่ต้องชั่งน้ำหนักระยะสั้นระยะยาว  การดำเนินนโยบายการเงินต้องใช้เวลาในการส่งผ่าน จึงไม่สามารถขึ้น ๆ ลงๆ ตามภาวะที่เกิดขึ้นได้  เราตระหนักดีว่า ดอกเบี้ยเป็น pricing (ตัวราคา)ที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจ  แง่เศรษฐกิจโดยรวมมองไปข้างหน้า เราต้องทบทวนปัญหาเขิงโครงสร้างมากขึ้น ต้องหาวิธีเพิ่มศักยภาพ สิ่งที่เราคาดหวัง คือ มีการลงทุนที่เพิ่่มขึ้นการผลักการลงทุน หลักๆไม่ใช่เรื่องของต้นทุนทางการเงิน  แต่เป็นเรื่องของโอกาสที่ธุรกิจมองเห็น ซึ่งก็หวังว่า การลงทุนจะ lead  เศรษฐกิจปรับเชิงโครงสร้างได้"

 

ทั้งนี้ กนง. จะมีการประชุมตามปกติ  โดยรอบแรกของปี 2567 วันที่ 7 ก.พ. นี้

 

สำหรับการหารือของดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. และผู้บริหาร ธปท.  ร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายปิติ กล่าวว่า  "เรารับฟังทุกเสียงไม่ว่านักวิเคราะห์ กระทรวงการคลัง ซึ่งการใข้นโยบายการเงินไม่ได้เป๊ะ 100%   เราต้องดูว่าสอดคล้องกับสิ่งที่จะควรจะเป็นหรือไม่ บทบาทนโยบายการเงินเหมือนผู้รักษาประตู (ดูแลเสถียรภาพ) เป็นกองหลังของทีมฟุตบอล โดยประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ (ใช้นโยบายการคลัง) เป็นกองหน้าที่จะลงสนาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังโควิด-19 ช่วงแรกเรายังมีแรงอยู่  แต่เมื่อเจอคู่แข่งที่แข็งแรงกว่าที่เราคิด  ก็เป็นเรื่องยากขึ้น เช่น ผู้ส่งออกที่เจอการแข่งขันที่ยากกว่าเดิม มีกฎระเบียบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น  ซึ่งนโยบายการเงินในฐานะผู้รักษาประตูพยายามสร้างพื้นฐานให้มั่นคง แต่ในช่วงโควิด-19 ก็ต้อง ขึ้นไปเป็นกองหน้าด้วย โดยเราก็ลดดอกเบี้ยมาก ๆ ช่วงโควิด ก็เหมือนการส่งผู้รักษาประตูไปอยู่ข้างหน้าด้วย ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสได้ประตู แต่เป็นการเปิดช่องโหว่ความเสี่ยงไว้ข้างหลัง เหมือนเทหมดหน้าตักไปนิดนึง พอหมดหน้าที่ ธนาคารกลางก็กลับมาเป็นผู้รักษาประตู  กระทรวงการคลังเป็นโค้ชหรือกัปตัน ส่วนรัฐบาลคือผู้จัดการทีมที่จะปรับโครงสร้างหลาย ๆ อย่างได้กว้างกว่า ซึ่งบทบาทจะเห็นชัดว่าทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้ว การจะทำเกินหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่”

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com