นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTAM) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน Private Credit หรือการให้สินเชื่อนอกตลาด มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความน่าสนใจที่หลากหลาย และมีความต่างจากตราสารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างชัดเจน ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในธุรกรรมประเภทนี้ เราจึงมองว่า Private Credit จะสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับนักลงทุน ได้เป็นอย่างดี จึงได้เปิดเสนอขายทั้งหมด 2 กองทุน ทั้งแบบป้องกันความเสี่ยงตามดุลพินิจผู้จัดการกองทุน และแบบไม่ป้องกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้นักลงทุนเลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้ของตนเอง ได้แก่ กองทุนเปิดเคแทม U.S. Private Credit Unhedged ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTPCRED-UI) และกองทุนเปิดเคแทม U.S. Private Credit ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTPCREDH-UI) (ความเสี่ยงระดับ 8+) ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน โดยจะเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 พ.ค. – 12 มิ.ย. 67 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ผ่านบลจ.กรุงไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เท่านั้น
Private credit คือ การปล่อยสินเชื่อประเภทหนึ่ง โดยเป็นการปล่อยกู้ให้กับบริษัทต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย โดยผู้ให้กู้แก่นักลงทุนนี้จะไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non-bank) ในขณะที่บริษัทที่มาขอสินเชื่อเงินส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทนอกตลาด หรือที่เรียกว่า Private Company เป็นหลัก โดยปัจจุบัน Private Credit กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มลดบทบาทตัวเองลงในการเป็นแหล่งเงินกู้ เพราะมีกฎเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้การปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กทำได้อย่างยากลำบาก จึงทำให้บริษัทจัดการลงทุนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นแหล่งเงินทุนแทน เพราะมีเกณฑ์กำกับที่ยืดหยุ่นกว่า โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงพอร์ตโฟลิโอที่เน้นสร้างรายได้และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นการช่วยสร้างมูลค่าและทำหน้าที่ในการลดความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดี นอกจากนี้ Private Credit ยังมีค่าความสัมพันธ์และความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ดั้งเดิม จึงเป็นการช่วยยกระดับการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงมีประวัติของอัตราการผิดนัดชำระหนี้ (Default rate) ที่ต่ำ พร้อมอัตราที่เรียกคืนได้ (Recovery rate) ที่สูงกว่า(ที่มา: Ares Management, 30 กันยายน 2566)
สำหรับกองทุน KTPCRED-UI และ KTPCREDH-UI เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Ares Strategic Income Offshore Access Fund (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class I UD เพียงกองเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนหลักมีเป้าหมายที่จะลงทุนในกองทุนAres Strategic Income Fund (ASIF) (กองทุนอ้างอิง) อย่างน้อย 95% ของทรัพย์สินของกองทุน ซึ่ง ASIF จะมุ่งเน้นในการสร้างกระแสรายได้ระดับสูงและเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตโฟลิโอ ผ่านแพลตฟอร์มเครดิตชั้นนำของ Ares ที่เน้นการทำ Direct Lending เป็นหลัก โดยกองทุน KTPCRED-UI ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ ส่วนKTPCREDH-UI มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนจากการลงทุน
สำหรับผู้จัดการกองทุนอ้างอิงอย่าง Ares Strategic Income Fund มีประสบการณ์กว่า 20 ปี โดยผ่านมาทุกวัฏจักรของตลาด รวมถึงมีผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่โดดเด่น (Risk-adjusted Return) บริหารจัดการโดยทีมบริหารที่แข็งแกร่ง ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมีมูลค่าประมาณ 419 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงถือเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ในระดับโลก (ที่มา: Ares Management, 31 ธันวาคม 2566) นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนผ่านแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทุกกองทุน ด้วยการสรรหาดีลที่ครอบคลุม มีความได้เปรียบด้านข้อมูล พร้อมโอกาสจำนวนมากในพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อ ที่เน้นหาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งภายใต้สภาพแวดล้อมของตลาดที่แตกต่างกัน และด้วยกลยุทธ์ Direct Lending ของทีม Ares U.S. Direct Lending ที่ผ่านมานั้น จึงช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปที่ซื้อขายในตลาด ในขณะที่รักษาอัตราการขาดทุนที่ต่ำกว่าได้ในเวลาเดียวกัน