ค่าเงินบาท“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.18 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.03-35.24 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงสู่โซน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกที่ออกมาแย่กว่าคาด (Lowe’s -3.1%) ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ออกมาบ้าง (Amazon -1.5%) ก่อนรับรู้รายงานผลประกอบการของบริษัท Nvidia ในช่วงหลังตลาดปิดทำการ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.59% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.09% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นที่เผชิญการปรับคำแนะนำของนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะหุ้นใหญ่ อย่าง หุ้นกลุ่มแบรนด์เนม LVMH -1.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ รวมถึงมุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ที่ประเมิน Upside ของตลาดหุ้นยุโรปเพียงเล็กน้อยสำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นยุโรปในปีหน้า
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ไม่ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงทั้งในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ก็มีส่วนส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.4% ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ทำให้เรายังมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.2-103.7 จุด) หนุนโดยบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็ได้รับรู้แนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยและอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ไปมากแล้ว (Well priced-in) ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอปัจจัยใหม่ๆ เพื่อพิจารณาการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงจังหวะการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะถูกชะลอการปรับตัวขึ้น จากแรงขายทำกำไรและการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัว sideway ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในวันนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยหากรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน พลิกกลับมาลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนว่า การจ้างงานไม่ได้ชะลอตัวลงมากขึ้นอย่างที่ตลาดกังวล) รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวขึ้นต่อได้ และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น รวมถึงระยะยาวในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก็ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจต่อมุมมองล่าสุด ว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วและเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า โดยในภาพดังกล่าว อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ กดดันให้ เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 35.50 บาทต่อดอลลาร์) ได้ไม่ยาก
ในทางกลับกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด หรือ ยังคงสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังไม่แข็งค่าจนหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ รวมถึง สกุลเงินฝั่งเอเชีย อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินหยวน (CNY) หลังทั้งสองสกุลเงินต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์