สศค. ดึง 4 ผู้นำองค์กร "สภาพัฒน์-ก.ล.ต. -ออมสิน-กรุงไทย" ระดมสมอง “ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง Financial Well-being” ชูสร้างและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ต่อยอดให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐมีความเฉพาะเจาะจง (Tailor-Made Policy) มากขึ้นได้ในอนาคต
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการสัมมนา Fis and Fin Forum 2023 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพว่า ในงานสัมมนาภาคบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง Financial Well-being” ซึ่ง สศค. ได้รับเกียรติจาก 1) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3) รศ. ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) นายวิทัย รัตนากร ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และ 5) นายผยงศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมการเสวนา โดยมีนายวารินทร์ สัจเดว เป็นผู้ดำเนินรายการ สามารถสรุปได้ ดังนี้
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า สศค. ได้พัฒนางานศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับ Micro Fiscal Policy เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายของภาครัฐภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ซึ่งจะสนับสนุนการออกแบบนโยบายแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างเหมาะสม โดยหากพิจารณาจากหลักการทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ว่าจะส่งผลให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นเท่าใด หรือที่เรียกว่า Marginal Propensity to Consume (MPC) พบว่า การสนับสนุนงบประมาณให้แก่กลุ่มเปราะบางจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และดัชนี Spatial Financial Fundamental Index (SFFI) เป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงระดับปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ออกนโยบายสามารถจำแนกกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนที่แตกต่างกันตามพื้นที่ได้ ทั้งนี้ การเพิ่มทักษะทางการเงินเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะทางการเงินที่ดีสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเงินเพิ่มมากขึ้น โดยควรมีแนวคิดว่าจะบริหารจัดการทางการเงินอย่างไรให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างพอเพียง หรือ “อิ่ม” หลังจากนั้นยังมีเงินเหลือเก็บหรือ “ออม” เพื่อที่จะมีเงินเพียงพอให้ “อุ่น” ใจในยามเกษียณอายุ หรือเรียกว่าแนวทาง “อิ่ม ออม อุ่น”
นายดนุชา พิชยนันท์ กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีการจัดทำระบบ Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลความยากจนของครัวเรือนไทยเชิงพื้นที่สอดคล้องกับการจัดทำดัชนี SFFI ของ สศค. อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาในภาคการเงินของประชาชนจากการเป็นหนี้เร็วและนาน อาจอาศัยการปรับทัศนคติในการใช้จ่ายของประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการออมเพิ่มมากขึ้น โดยประชาชนควรได้รับการดูแลภายใต้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net)อย่างน้อย 1 โครงข่าย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน
รศ. ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล ให้ความเห็นว่าดัชนี SFFI ของ สศค. ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบได้แก่ การบริหารจัดการทางการเงิน การออมและการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน เมื่อพิจารณาจากผลการศึกษาพบว่า องค์ประกอบด้านการออมและการลงทุน มีปัญหาความแตกต่างเชิงพื้นที่มากที่สุด ในขณะที่การเข้าถึงบริการทางการเงินมีความแตกต่างเชิงพื้นที่ไม่มากนักโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการส่งเสริมการออมและการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า หาก สศค. สามารถบูรณาการชุดข้อมูลที่มีอยู่กับข้อมูลสุขภาวะของประชาชนในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุข เป็นต้น ก็จะทำให้สามารถชี้วัดระดับสุขภาวะเชิงพื้นที่ของประชาชนที่มีมิติหลากหลายครบถ้วนยิ่งขึ้น
นายวิทัย รัตนากร กล่าวว่า งานศึกษาของ สศค. เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ทราบว่าการทำงานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ควรจะไปที่ไหน กลุ่มเป้าหมายคือใคร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยองค์รวมที่ต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกันเพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงพื้นที่มีความครอบคลุมทุกมิติโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปัจจัยด้านการเงินเพียงอย่างเดียว
นายผยง ศรีวณิช กล่าวว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Megatrends) ที่ทุกคนต้องเผชิญในอนาคตที่จะมาถึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น ดังนั้น งานศึกษาของ สศค. จะมีส่วนช่วยในการช่วยให้ประชาชนสามารถที่จะเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงข้างต้น โดยได้กล่าวเสริมว่า ฐานข้อมูลของ สศค. เป็นฐานข้อมูลที่ดี หากนำมารวมกับฐานข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ เช่น สศช. เป็นต้น ก็จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป ผู้ร่วมงานเสวนาต่างเห็นว่าการร่วมกันสร้างและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะช่วยให้ภาครัฐสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายทั้งในเชิงพื้นที่ บุคคล และมิติอื่นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำและประหยัดทรัพยากร ผลการศึกษาเรื่อง “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” ที่ สศค. ได้นำเสนอในภาคเช้าของงานสัมมนา Fis and Fin Forum 2023 จะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐมีความเฉพาะเจาะจง (Tailor-Made Policy) มากขึ้นได้ในอนาคต