เงินบาท“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.06 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 36.90-37.10 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อในฝั่งยูโรโซน รายงานดัชนี PMIs เดือนเมษายน ของจีน และรอประเมินภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.03 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.96-37.08 บาทต่อดอลลาร์) ตามแนวโน้มเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่แกว่งตัวในกรอบ sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะ ผลการประชุมเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงาน และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เคลื่อนไหวผันผวนสูง คล้ายกับช่วงที่มีการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น (แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะยังไม่ยืนยันการเข้าแทรกแซงก็ตาม) โดยผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มประเมินว่าค่าเงินเยนแถว 160 เยนต่อดอลลาร์ อาจเป็นโซนที่ทางการญี่ปุ่นประเมินว่าเป็นการผันผวนอ่อนค่าเกินไปและเสี่ยงต่อการถูกเข้าแทรกแซง ซึ่งภาพดังกล่าว ก็อาจช่วยลดทอนแรงหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ ในกรณีที่เงินเยนจะไม่สามารถอ่อนค่าไปเกินระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ และมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (หากประเมินจากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นอาจแกว่งตัวในช่วง 155 เยนต่อดอลลาร์ ได้)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Tesla +15.3% ที่ได้แรงหนุนจากการผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยด้านข้อมูลของทางการจีน เปิดโอกาสในการใช้งานระบบ Full Self-Driving อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบเพิ่มความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นผลการประชุมเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.32%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.07% กดดันโดยแรงเทขายทำกำไรบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -1.3%, Hermes -2.2% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากรายงานอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีล่าสุดที่ออกมาสูงกว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.60% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงทดสอบโซน 4.70% ได้อีกครั้ง หากผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่างออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่าเมื่อประเมินจากคาดการณ์ผลตอบแทนรวมในอีก 1 ปี ข้างหน้า และความเสี่ยงในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจกลับไปแตะระดับ 5.00% ได้อีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความเสี่ยงการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน (JPY) โดยทางการญี่ปุ่นและบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็มีส่วนจำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถว 105.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.5-105.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวในช่วงโซน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้โซนดังกล่าวอาจเป็นแนวรับทองคำในระยะสั้น ขณะที่ผู้เล่นในตลาดต่างใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นราว +20 ถึง +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในการทยอยขายทำกำไร
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อในฝั่งยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ส่วนในฝั่งเอเชีย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนเมษายน ที่หากออกมาสูงกว่าระดับ 50 จุด ก็อาจยังคงสะท้อนการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน และช่วยให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพเศรษฐกิจมากขึ้นได้
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board รวมถึง ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) โดยต้องระวังในกรณีที่ รายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด/สูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบไม่ต่างจากวันก่อนหน้า โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ตลอดสัปดาห์นี้ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน แต่หากผู้เล่นในตลาดไม่ได้มีความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น (จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ) อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าเหนือระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่ได้ประเมินไว้
ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้แม้เงินบาทอาจมีการแข็งค่าขึ้นมาบ้าง ก็อาจติดโซนแนวรับแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.60 บาทต่อดอลลาร์) จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ หรือ ธีม US Exceptionalism ได้อ่อนกำลังลงชัดเจน (ต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากขึ้น) เงินบาทถึงจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้
อนึ่ง ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดการเงินญี่ปุ่นปิดทำการในช่วงสัปดาห์หยุดยาว Golden Week ทำให้สภาพคล่องในตลาดนั้นเบาบางลงชัดเจน และเหมาะต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยเฉพาะหากโมเมนตัมเงินดอลลาร์ได้แผ่วลงบ้าง ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน
เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.10 บาท/ดอลลาร์