เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวน และมีโอกาสอ่อนค่าลง ลุ้นผลประชุม กนง. คาดคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% แม้ว่าเงินเฟ้อสูง ขณะที่ต้องจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อย่างใกล้ชิด มองกรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาท/ดอลลาร์
คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.42 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์
ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองเห็นสัญญาณว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ หลังจากที่บริษัทค้าปลีกใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Target ได้ประกาศมาตรการที่จะปรับลดราคาสินค้าลง เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้ออาจชะลอลงได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.98% และหนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีรวมถึงหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น ทำให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.95%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังผู้เล่นในตลาดคงมองว่าตลาดน้ำมันจะยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวต่อไป จากกำลังการผลิตที่ยังไม่สามารถชดเชยส่วนที่หายไปจากรัสเซีย ส่วนความต้องการใช้พลังงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและฤดูกาลท่องเที่ยวในฝั่งสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.28% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ สวนทางกับหุ้นเทคฯ ฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Adyen -3.0%, ASML -1.2% จากแนวโน้มธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมของ ECB วันพฤหัสบดีนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอลงได้ หลังจากที่บริษัทค้าปลีกรายใหญ่สหรัฐฯ อย่าง Target เตรียมปรับลดราคาสินค้า เพื่อระบายสต็อก ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.98% หลังจากที่แกว่งตัวเหนือกว่าระดับ 3.0% ในช่วงวันก่อนหน้า ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มผันผวน จนกว่าตลาดจะรับรู้ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด รวมถึงความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ผ่าน Dot Plot ใหม่จากการประชุมเดือนมิถุนายน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงสู่ระดับ 102.4 จุด ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) กลับสู่ระดับ 1.07 ดอลลาร์ต่อยูโร จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าต่อเนื่องใกล้ระดับ 133 เยนต่อดอลลาร์ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อนึ่ง การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 1,853 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งคาดว่า ผู้เล่นบางส่วนที่ได้เข้าซื้อในจังหวะย่อตัว อาจรอทยอยขายทำกำไรทองคำได้ หากราคาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. จะยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้ กนง. อาจปรับประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้สูงขึ้นจากที่เคยประเมินในเดือนมีนาคม แต่ เรามองว่า หากยังไม่เห็นการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเป็นวงกว้าง อีกทั้งคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานปลางยังคงทรงตัว กนง. จะยังไม่ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อเหมือนกับธนาคารกลางอื่นๆ และ กนง. จะยังคงให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นหลัก
อนึ่ง หาก กนง. มีการปรับมุมมองต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดิม อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดตีความว่า กนง. ได้เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในอนาคตได้ (Slightly Hawkish Rate Hold) แต่เราคาดว่าผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ระยะสั้นอาจมีอย่างจำกัด เนื่องจากระดับบอนด์ยีลด์ล่าสุดได้สะท้อนภาพการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ไปมากแล้ว
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าลงในช่วงระหว่างวัน โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังรับรู้ผลการประชุม กนง. โดยหาก กนง. ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า สุดท้าย กนง. อาจต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ยังคงมีแรงขายบอนด์อยู่บ้าง อย่างไรก็ดี หาก กนง. มีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยเฉพาะหากมองว่า การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ก็อาจช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมากหรือกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยจากช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมได้
ทั้งนี้ แนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในโซน 34.50-34.60 ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เรามองว่า หากตลาดไม่ได้กลับมาปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงมากนัก
อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาท/ดอลลาร์