Krungthai GLOBALMARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์ นักลงทุนยังไม่คลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รอติดตามตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่องของสหรัฐฯ ขณะที่ของไทยรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าเดือนมกราคม
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBALMARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์
แม้ว่ารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าคาด สู่ระดับ 47.7 จุด และยังคงสะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต (ดัชนี ต่ำกว่าระดับ 50 จุด) ทว่าหากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า ดัชนีด้านราคา (Price Index) กลับเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 51.3 จุด จากก่อนหน้าที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สะท้อนแนวโน้มราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นในอัตราเร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงได้ช้าและจะส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลงต่อ ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.66% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.47%
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.74% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนี ยังคงอยู่ที่ระดับ 8.7% สูงกว่าที่ตลาดคาด (สอดคล้องกับรายงานอัตราเงินเฟ้อของทั้งฝรั่งเศสและสเปนที่รายงานก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมบ้าง หลังรายงานดัชนี PMI ล่าสุดของจีนออกมาดีกว่าคาดพอสมควร สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ซึ่งล่าสุดสะท้อนผ่านโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% รวมถึงโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแตะ 6.00% ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% (จาก CME FedWatch Tool) ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.00% อีกครั้ง ซึ่งโซน 4.00% ถือได้ว่าเป็นแนวต้านสำคัญของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ทำให้ต้องจับตาใกล้ชิดว่า บรรดานักลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น ได้อย่างที่เราได้ประเมินไว้หรือไม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งเอเชีย รวมถึงสกุลเงิน Commodity-related อย่าง เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) และเงินยูโร (EUR) หลังรายงานดัชนี PMI ของจีนออกมาดีกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนีก็มาออกมาสูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้นได้และแกว่งตัว sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด อีกครั้ง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดเอเชียเปิดทำการ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนแตะโซนแนวต้าน 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,843 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงการซื้อขายในฝั่งสหรัฐฯ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น อนึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนที่ทยอยสะสมในโซนแนวรับ เริ่มขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ซึ่งหากยอดดังกล่าวยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หรือทรงตัวใกล้เคียงระดับเดิม ก็จะยังคงสะท้อนแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่คลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังสูง เช่น 8.2% ตามที่ตลาดประเมิน ก็จะยิ่งหนุนโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งผู้เล่นในตลาดล่าสุดคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate จนแตะระดับ 3.75% ได้ในปีนี้ จากระดับล่าสุดที่ 2.50%
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนมกราคมของไทย (ข้อมูลจากกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์) หลังจากที่ในช่วงต้นสัปดาห์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานดุลการค้าที่ขาดดุลถึง -2.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลการค้าดังกล่าวได้กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าหนักจนแตะระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลยอดการส่งออกและนำเข้าของกรมศุลฯ ว่า การขาดดุลการค้าดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เช่น ยอดการนำเข้ายุทธปัจจัยสำหรับการซ้อมรบ Cobra Gold หรือไม่ เพราะหากเกิดจากการซ้อมรบ ก็อาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ไม่ได้สะท้อนภาพปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงเมื่อวานที่ผ่านมานั้น มาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ที่สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินฝั่งเอเชีย รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ นอกจากนี้ การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทยังได้แรงหนุนจากการขายทำกำไร รวมถึง Stop loss สถานะ Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ อย่างน้อยจนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้ เรามองว่า เงินบาทจะยังคงไม่กลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจนและยังคงแกว่งตัว Sideways Up อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง หากรายงานยอดการส่งออกและการนำเข้าของกรมศุลฯ สะท้อนว่า การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้ายุทธปัจจัยเพื่อใช้ในการซ้อมรบ Cobra Gold นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนออกมาสูงกว่าคาด และยังคงหนุนให้เงินยูโร (EUR) ทรงตัวหรือแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้
ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่านกรอบค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาซึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 50 สตางค์ภายในวัน ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์