Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์ หลังเปิดตลาดเช้านี้ที่แข็งค่าขึ้นระดับ 35.21 บาทต่อ รอประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.18-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า แม้เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (โอกาสราว 61% จาก CME FedWatch Tool) แต่เฟดก็ใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ (Nvidia +1.8%, Meta +1.7%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.84% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.63%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.89% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +1.8%, LVMH +1.7%) หลังทางการจีนปรับลดภาษีอากรแสตมป์ในการซื้อขายหุ้นเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งส่งผลให้ตลาหุ้นจีนปรับตัวขึ้นแรงในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML +2.1%, SAP +1.4%) เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างก็มองว่า เฟดก็ใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนคลายความกังวลต่อความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์จะปรับตัวขึ้นแรงและทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.20% ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นอาจจำกัดอยู่ใกล้โซนจุดสูงล่าสุดแถว 4.30% ขณะที่ Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวก็ยังมีความคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลง สู่ระดับ 103.9 จุด (กรอบ 103.9-104.2 จุด) โดยเงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (ทำให้เงินดอลลาร์มีความน่าสนใจน้อยลง) และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลตลาดบ้านของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board และ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings)
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตาการปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซน โดยทางคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงานในช่วงวันศุกร์ นอกจากนี้ เราพบว่า ในช่วงปลายเดือน ยังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงแรงซื้อสกุลเงินอื่น โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลงพอสมควรเมื่อเทียบกับเงินบาท และที่สำคัญ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ยังมีความไม่แน่นอนก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้ากลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ตามที่เราเคยประเมินไว้ โดยล่าสุด นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ไทยรวมกันกว่า -2.5 พันล้านบาท ในวันก่อนหน้า
อนึ่ง แม้ว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง แต่เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากราคาทองคำก็เริ่มมีการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินเอเชียที่ดีขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มเติม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนสกุลเงินฝั่งเอเชีย ทำให้เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทอาจยังอยู่ในช่วง 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจนและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์