Krungthai Global Market คาดเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์ หลังบรรยากาศตลาดเงินอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว รอผลการประชุมเฟด ในวันพฤหัสฯ นี้
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.87 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์
คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยผลการประชุมเฟด (ที่จะทราบผลการประชุมในเวลาประมาณ 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทยในวันพฤหัสฯ นี้) ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างมองว่า เฟดมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ต่อเนื่อง เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น ราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ได้รีบาวด์ขึ้น หลังจากที่ปรับตัวลงแรงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นำโดย Apple +2.5%, Tesla +1.9% และช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.69%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ย่อตัวลงเล็กน้อยเพียง -0.09% เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างรอจับตาผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มยานยนต์โดยเฉพาะ Volkswagen +3.3% ที่ได้อานิสงส์จากข่าวการ IPO บริษัท Porsche ซึ่งตลาดต่างคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 7.5 หมื่นล้านยูโร และเป็นการทำ IPO ที่ใหญ่อันดับ 2 ของตลาดหุ้นเยอรมนี
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 4.50%-4.75% (Terminal Rate) ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดก่อนหน้าที่ 3.50% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงรอประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด ขณะที่ผู้เล่นบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า (ผลสำรวจของ Bloomberg ล่าสุด สะท้อนว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างให้โอกาสราว 50% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 109.7 จุด หลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110 จุด ก่อนหน้า โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ ที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะการถือครองที่ชัดเจน อนึ่ง การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,685 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้มาก เนื่องจากยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด
สำหรับวันนี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอคอยผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ ทำให้บรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบ
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางของราคาทองคำ แต่โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ 36.70-37.10 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงหนักอีกครั้ง และนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เดินหน้าเทขายสินทรัพย์ในตลาดการเงินไทย (ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายสุทธิหุ้นไทยเพียง -640 ล้านบาท ซึ่งลดน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า) เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ไปมากนัก
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์