Economies

เงินบาท`อ่อนค่าเล็กน้อย`เปิดเช้านี้ 33.79 บาท/ดอลลาร์
31 ต.ค. 2567

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.79 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” กรุงไทย คาดวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.79 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.70 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.67-33.81 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็เริ่มชะลอลงแถวโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งออกมาขยายตัว +2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ +3.0% นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB อีกทั้ง รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 รวมถึง อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีก็ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็รีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน หลังรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยงบประมาณฉบับแรก ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างที่ผู้เล่นในตลาดได้กังวล นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าอีกครั้ง ซึ่งช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา  

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor ท่ามกลางความกังวลปัญหาบัญชีของหุ้น Super Micro Computer -32.7% รวมถึงรายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาดของ AMD -10.6% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alphabet +2.8% ซึ่งรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในวันก่อนหน้า ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.33% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -1.25% กดดันโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาน่าผิดหวัง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML -3.2% นอกจากนี้ การปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของ ECB ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยุโรปเพิ่มเติมเช่นกัน 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสะท้อนภาพการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (แม้ว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะน้อยกว่าคาด ทว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ก็ออกมาดีกว่าคาดพอสมควร) อีกทั้ง การทยอยปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้โซน 4.30% อีกครั้ง ซึ่งการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับภาพที่เราประเมินไว้ ทำให้เรายังคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้น ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจาก ทั้งแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD รวมถึงการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามการปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของ ECB ส่วนงบประมาณฉบับแรกของรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษก็ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่ตลาดคาดการณ์ อนึ่ง เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการอ่อนค่าของ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.9-104.4 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซน 2,790-2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง  

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมหลังการเมืองญี่ปุ่นเผชิญความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังพรรค LDP และพรรคพันธมิตร Komeito ได้เสียการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จนอาจมีผลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ ได้ ทำให้แม้ว่าในการประชุม BOJ ครั้งนี้ เรามองว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ตามเดิม ทว่า เราจะจับตาอย่างใกล้ชิด ต่อการส่งสัญญาณของ BOJ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน ภายใต้ความเสี่ยงการเมืองญี่ปุ่น

ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) เดือนตุลาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน 

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน เดือนตุลาคม รวมถึงถ้อยแถลงจากบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB   

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด 

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน  โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon, Apple และ Intel ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ 
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยเงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านแถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์) เพราะถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง หรือบรรดานักลงทุนต่างชาติจะยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย อย่างต่อเนื่อง ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงนี้ เงินบาทก็อาจพอมีโซนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 33.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพราะหาก BOJ มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่าพร้อมทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย โดยไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่น ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ขณะที่ หาก BOJ ย้ำจุดยืน ไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย พร้อมแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นมีจังหวะอ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) พอสมควร โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินบาท และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง หรือชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com