Economies

บาทแข็งค่าต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ 35.71 บาทต่อดอลลาร์
15 พ.ย 2565

Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.60-35.85 บาท/ดอลลาร์ หลังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น อาจกดดันให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทย


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์
 

ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้นและเลือกที่จะทยอยลดความเสี่ยงลง กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลง นำโดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.12% ส่วนดัชนี S&P 500 ปิดตลาด -0.89% โดยแรงเทขายหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ Christopher Waller ซึ่งเป็นหนึ่งใน FOMC Voting member ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดจะชะลอตัวลงมากกว่าคาดก็ตาม แต่เฟดก็ยังไม่บรรลุภารกิจควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เฟด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดอีกครั้ง


 
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้น +0.14% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด รวมถึง ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น หลังจากที่ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของยูโรโซนในเดือนกันยายน เร่งตัวขึ้น +0.9%m/m ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก อนึ่ง การย่อตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันตลาดหุ้นยุโรปในช่วงท้ายของการซื้อ ขาย ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นไปได้ไม่มาก


 
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทว่า การย่อตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือบอนด์ระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงอยู่ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 3.86% อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า แม้ว่าเฟดอาจจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ตามคาด แต่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้สะท้อนความไม่แน่นอนของจุดสูงสุดดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังเคลื่อนไหวผันผวนและมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งเรามองว่าควรหาจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ มากกว่าจะไล่ราคาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ลดลง

 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.9 จุด อย่างไรก็ดี ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ สู่ระดับ 1,773 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถูกหนุนด้วยความต้องการซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ทว่า ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ท่ามกลางแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ เราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ แต่ยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านได้ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรออกมา และน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำสูงถึง 85%)

 
สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members)

 
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันอาจมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีน้อยลง หลังวิกฤตพลังงานอาจไม่ได้น่ากังวลมากอย่างที่เคยประเมินกันก่อนหน้า ตามสภาวะอากาศในช่วงฤดูหนาวที่มีแนวโน้มอุ่นกว่าปกติ ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะสะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤศจิกายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -52 จุด (ดัชนีติดลบ หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ)
 

และในฝั่งเอเชีย ไฮไลท์สำคัญที่ควรติดตามและระมัดระวัง คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน โดย ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนในเดือนตุลาคมยังคงซบเซาอยู่ ตามผลกระทบของมาตรการ Zero COVID โดยยอดค้าปลีกจะโตเพียง +0.7%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจเพิ่มขึ้น +5.2% สอดคล้องกับ การปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนในช่วงที่ผ่านมา
 
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราประเมินไว้ แต่บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น อาจกดดันให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทยได้บ้าง นอกจากนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งอาจกดดันให้ ค่าเงินหยวน (CNY) ของจีนพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากความหวังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ของทางการจีน โดยในกรณีที่เงินหยวนพลิกอ่อนค่าลงก็มีโอกาสที่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีนในช่วงนี้ราว 71%)
 

ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลงได้ ก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงมากนัก เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่า ทำให้ เราประเมินว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับยังคงเป็นโซน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่าบรรดาผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในโซนดังกล่าว
 

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่าน ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.85 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com