ภาคการธนาคารหนุนภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในการประชุม TB-CERT Cyber Security Annual Conference 2022 ผ่านการหารือใน 3 ประเด็นสำคัญคือ สร้างกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกันเพื่อจัดการปัญหาให้ดีขึ้น ขยายความร่วมมือข้ามองค์กร และเสริมศักยภาพบุคลากรอย่างจริงจัง
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาสมาคมธนาคารไทย กล่าวในระหว่างเปิดการประชุม TB-CERT Cyber Security Annual Conference 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยสมาคมธนาคารไทยและได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า แม้สถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงไปและประชาชนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิต รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาพความเสี่ยง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และทักษะความรู้ที่มีความจำเป็นต่อการจ้างงานในอนาคต
เขายังเชื่อว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะนับเป็นความท้าทายใหม่ของมนุษยชาติ ที่จะต้องสะท้อนให้เห็นถึง “ก้าวต่อไปในการสร้างความเชื่อถือไว้วางใจและความร่วมมือกัน” (The next chapter of building trust and collaboration) ซึ่งเป็นหัวข้อของการประชุมในครั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น คือ
1.) การเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความสะดวกสบายและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกิจ ขณะเดียวกัน หลายบริษัทกำลังเผชิญกับปัญหาการทุจริตทางดิจิทัลและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกัน เพื่อช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ดีขึ้น
2.) การจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จะไม่ใช่เพียงปัญหาด้านไอที หากแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่ต้องเชื่อมโยง ตั้งแต่ระดับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กร ระหว่างองค์กร ไปจนถึงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของประเทศไทยร่วมกัน
3.) บุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านนี้อย่างจริงจังและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ 2 ประเด็นแรกประสบความสำเร็จได้
“การประชุม TB-CERT Cyber Security Annual Conference 2022 ในครั้งนี้ อาจเป็นการประชุมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคการเงิน และเราได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากองค์กรชั้นนำที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างทักษะและเครือข่ายของผู้มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะเดียวกัน การประชุมในครั้งนี้ยังได้ขยายเครือข่ายไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น หน่วยงานป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าเราจะร่วมกันสร้างความตระหนักของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องให้สามารถปรับตัวพร้อมรับกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลด้านความปลอดภัยในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกันต่อไป” นายชาติศิริ กล่าว