“CEO กฤษณ์” กางแผนจัดทัพครั้งใหญ่ ปรับโครงสร้างองค์กร-ลดต้นทุน -อัพเลเวล Core Bank และ AI พร้อมตอบโจทย์ AI-First Bank สู่บริการธนาคารแห่งอนาคต พร้อมรบกับ Virtual Bank มั่นใจอีก 2 ปีหน้า ทำกำไรก้าวกระโดด ปั้นผลตอบแทนให้ส่วนผู้ถือหุ้นดีต่อเนื่อง
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ (SCB) ได้ฉายภาพ Journey (เส้นทาง)ของการทำงานในธนาคารไทยพาณิชย์แห่งนี้ ในช่วงเวลา 2 ปีกว่า นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ในงาน “SCB Press Trip 2024” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2567 ณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
“วันนี้ (28 พ.ย.) เป็นวันที่ 850 วันของการเป็น CEO ซึ่งเวลาเร็วมาก ดีใจที่เข้ามาร่วมทำงานองค์กรนี้ และมีเรื่องที่อยากมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานของธนาคาร ผมอยากบอกก่อนว่า พันธกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันแรกที่ผมรับตำแหน่งเมื่อ 850 วันที่แล้ว เรายังต้องการเป็น Univeral digital Bank ที่เป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของการบริหารความั่งคั่ง พันธกิจยังคงเหมือนเดิม กลยุทธหลักก็ไม่เปลี่ยนเช่นเดียวกัน ก็ยังเป็น digital Bank with human touch และเชื่อว่า กลยุทธนี้จะเป็นกลยุทธหลักของไทยพาณิชย์ต่อไปอีกในระยะกลางอย่างน้อยๆ 5-10 ปีไม่เปลี่ยนแน่ๆ”
เป้าหมายของไทยพาณิชย์ภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงประเมินผลงานของผมเช่นกัน ว่า NPH เป็นอันดับหนึ่ง ธุรกิจ wealth ของเราเป็นอันดับหนึ่ง รายได้จาก Digital Bank อยู่ที่ 28% เป้าหมาย ROE (ผลตอบแทนส่วนของทุน) ที่ผ่านมา ตลอด ที่ผมรับตำแหน่งตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน 2 หลัก เราเป็นธนาคารแรกที่ทำ ROE ได้ 2 หลัก ด้านต้นทุนต่อรายได้ (cost to income) เราเป็นธนาคารทำออกมาได้ดีที่สุดในบรรดาธนาคารในประเทศไทย และยังคงดีอย่างต่อเนื่อง”
ด้านผลประกอบการของธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2567 มีกำไรสุทธิ 3.85 หมื่นล้านบาท เป็นธนาคารที่มีอัตรากำไรเติบโต ผู้บริหารธนาคารทุกคนพยายามสร้างรายได้และบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เราเชื่อว่าทำได้ดีมากโดยเฉพาะเรื่องต้นทุนของทรัพยากรบุคคล จำนวนพนักงานต่อรายได้ จำนวนสาขาต่อรายได้ ความมีประสิทธิภาพของพนักงานในการใช้ AI ทำให้ 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเป็น 3 ไตรมาสที่ดีของไทยพาณิชย์
ทั้งนี้ ไทยพาณิชย์ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ระดับ 12.1% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important bank: D-SIBs) มีต้นทุนต่อรายได้ที่ 36.7% ต่ำที่สุดในระบบ D-SIBs
โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิโต 3% ซึ่งมาจากการที่ไทยพาณิชย์มีการเจาะกลุ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่ชัดเจน คือ ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก และปล่อยสินเชื่อบ้านกลุ่มที่มีราคาบ้านเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (yoy)
“สินเชื่อโดยภาพรวมของเราก็ทรงๆ แต่ด้วยความที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อต้นปี มีอานิสงส์ต่อเรา ทำให้ ์NII (รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ)เรายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี”
ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมก็เป็นพระเอกที่สร้างการเติบโต คือ รายได้จากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth) เติบโตเกือบ 20% yoy ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่ต้องการทำให้ธุรกิจ Wealth ที่อยู่อันดับสองให้ขึ้นอันดับหนึ่งให้ได้ด้วยเป้าหมายมูลค่าสินทรัคพย์ฯจบที่ 1.34 แสนล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในส่วนของการลงทุน (Asset Under Advisory) เติบโต 11% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เติบโต 1.5%
“โจทย์ของ Wealth เป็นการเดินทางที่ไม่ใช่โจทย์ง่าย ยิ่งตอนนี้สินเชื่อไม่โต แทบจะเห็นทุกแบงก์เอาจริงเอาจังเรื่อง Wealth มาก เราเองก็ปรับเปลี่ยนหลายๆอย่างในด้าน Wealth ซึ่งรายได้เกิดจากการบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งจะรวมทั้งการลงทุนและประกันเข้าด้วย จะเป็น Core welath ที่ไม่นับรวมเงินฝาก สิ้นปีนี้เราคาดธุรกิจ wealth โต 20% และหากนับ AUA สิ้นปีนี้ไทยพาณิชย์เป็นอันดับหนึ่งแน่นอน”
ในเรื่องความยั่งยืนนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ตอกย้ำบทบาทพันธมิตรในการพาลูกค้าทุกกลุ่มเร่งปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า1.34 แสนล้านบาท (ณ พ.ย. 2567) จากเป้าหมาย 1.5 แสนล้านบาทในปี 2568
ในมิติของดิจิทัลแบงก์ที่ไทยพาณิชย์ได้ทำไปแล้ว ในช่วง 9 เดือน มีผลงาน 5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องรายได้จากช่องทางดิจิทัลต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นสู่ 15% จาก 7% ณ ปลายปี 2566
“ถ้าจำได้ วันที่ผมรับตำแหน่ง รายได้จากดิจิทัลของไทยพาณิชย์ตัวเลขไม่ถึง 5% (ปี 2565) ปี 2566 จบที่ 7% ปีนี้เราพยายามปิดที่ 15% เพื่อปีหน้าที่จะก้าวกระโดดปิดที่ 25%”
เรื่องที่สอง นำการใช้ AI ในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ครอบคลุมมิติสำคัญของธนาคาร อาทิ ปัจจุบันเราใช้ AI อนุมัติสินเชื่อรายย่อย 100% แล้ว และเพิ่มขีดความสามารถด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะบุคคล รวมถึงการใช้ AI เสริมประสิทธิภาพให้กับพนักงานติดตามหนี้ ส่งสัญญาณเตือนภัยดูแลลูกค้าและบริการสาขา เป็นต้น
อีกเรื่องที่สำคัญ 3. การเพิ่มเสถียรภาพให้แก่ SCB EASY จากเมื่อ 5 ปีก่อน ไทยพาณิชย์เป็นแบงก์ที่หวาดเสียวระบบล่มบ่อยมาก แต่เราก็ค่อยๆพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึง ณ สิิ้นปีที่แล้ว SCB Easy ล่มไป 4 ชั่วโมง ส่วนปีนี้ ล่มเหลือ 1 ช.ม. ถือเป็นพัฒนาการที่ดี อันนี้ชี้ให้เห็นถึงการลงทุนของเรา ว่า เอาจริงเอาจังกับการบริหาร เรื่องที่สี่ การเปลี่ยนกระบวนการจากระบบมือสู่อัตโนมัติได้มากกว่า 1,000 กระบวนการ และ 5.การวางรากฐานการเป็นธนาคารแห่งอนาคต ด้วยการลงทุนระบบหลักของธนาคาร (Core Bank) บนระบบคลาวด์ ซึ่งคาดว่ากลางปีหน้าจะมีการใช้ Core Bank ใหม่นี้ ซึ่งจะตอบโจทย์การทำงานที่เป้นอัติโนมัติมากขึ้น จะใช้คน กระดาษให้น้อยลง
พร้อมกันนี้ ไทยพาณิชย์จะทำการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารแห่งอนาคตที่จะอยู่คู่คนไทยยาวอีก 100 ปีข้างหน้า โดยจะมีปรับลดทั้งต่ำแหน่งและหน่วยงาน (BU) ให้กระชับขึ้นตั้งแต่ระดับผู้บริหารที่มี 19 ต่ำแหน่งให้เหลือเพียง 10 ตำแหน่งที่ขึ้นตรงกับ CEO และมีการปรับชั้นระดับทำงานต่างๆ เพื่อลดการทำงานที่ทับซ้อนกัน ลดจุดทับซ้อนของหน่วยงาน ที่สำคัญจะตอบโจทย์บริการลูกค้าได้เร็วขึ้น และไร้รอยต่อ รวมถึงลดต้นทุนธนาคารลงมาเหลือ 35% ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรจะมีผลวันที่ 1 มกราคม 2568
คุณกฤษณ์มองความท้าทายในปีหน้า 2568 ของอุตสาหกรรมธนาคารมี 3 ด้านใหญ่ๆ 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง หลักๆยังเป็นเอฟเฟคจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ตั้งกำแพงภาษีในบางอุตสาหกรรมกับจีนและอีกหลายๆประเทศ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยด้วย โดยคาดการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 2.4%ในปีหน้า ซึ่งจะเติบโตช้าลงจากปี 2567 นี้
2. ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูงซึ่งเพิ่มความท้าทายในธุรกิจสินเชื่อมากขึ้น แม้รัฐบาลจะมีมาตรการแจกเงิน 1 หมื่นบาทรอบ 2 ปีหน้า อาจจะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีหน้ามีชีวิตชีวาขึ้น แต่ก็เป็นความสดใสเพียงระยะสั้น มาตรการนี้ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะปัญหาประเทศไทยอยู่ที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะสร้างรายได้ให้คนส่วนใหญ่ลืมตาอ้าปากได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่พอสมควร แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการแก้หนี้ และจะเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ 1 ครั้ง อัตรา 0.25% ลงมาอยู่ที่ 2%ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ไม่ได้มีผลมากจนทำให้เศรษฐกิจกลับมา ในปีหน้ากลุ่มลูกหนี้รายย่อยยังมีความเปราะบางอยู่พอสมควร หนี้ครัวเรือนไทยที่สูงเป็นหนี้ในระบบ ถ้ารวมหนี้นอกระบบ เชื่อว่ามีสัดส่วนเกิน 100%ของ GDP ทำให้ทุกธนาคารมองคล้ายกันเรื่องการปล่อยสินเชื่อย่างระมัดระวัง และต้องบริหารจัดการให้อยู่รอด ทั้งการจัดการความเสี่ยงกับภาระตั้งสำรองที่มีทั้งสินเชื่อน้ำเก่าที่ยังเป็นปัญหาอยู่ และสินเชื่อน้ำใหม่ที่จะเข้ามา”
และ 3. เทรนด์ AI และกฎกติกาด้าน ESG ยังคงมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผู้ที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank อย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญในระบบการเงินของไทย และจะเห็นการซื้อตัวคนแบงก์จากธนาคารหลักไปอยู่ Virtual Bank ที่มากขึ้น
สถานการณ์การแข่งขันในปี 2569 คุณกฤษณ์ เล่าว่า เรื่องแรก Virtual Bankในต่างประเทศ จะมี Cost to Income ที่ 30%ต้นๆ แต่ปัจจุบันของไทยพาณิชย์อยู่ที่ 36% ซึ่งตอนนี้กำลังพยายามที่จะปรับลดลงมาให้เท่าตลาด Virtual Bank เรื่องที่สอง ไทยพาณิชย์เตรียมเกราะกำบังรักษาฐานลูกค้า ให้ได้ผ่านการบริหารงานคนและเครื่อง ให้อยู่ในต้นทุนที่ไม่เว่อร์เกินไป ซึ่งมีข้อมูล Virtual Bank ทั่วโลก จะขาดทุนถึง 90%และกำไรแค่ 10%
“วันนี้ ไทยพาณิชย์พร้อมจะแข่งกับ Virtual Bank ทุกเจ้า ชนะหรือแพ้ต้องดูหนังยาว”
แผนมรับมือของไทยพาณิชย์ คือ เรื่องแรก บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้เร็วยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้นและให้อยู่ในต้นทุนที่เหมาะสม เช่น กลุ่มลูกค้า wealth และเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าสูง จะใช้คนบริการมากกว่าทำผ่านดิจิทัล ลูกค้าสินเชื่อที่มีมูลค่าน้อยจะใช้ช่องทางดิจิทัล ซึ่งจะต้องพยายามกดต้นทุนบริการให้ลงมาใกล้เคียงกับ Virtual Bank
“ตอนผมเข้ามาทำงานที่นี้ cost to income อยู่ที่ 41% ปัจจุบ้นเหลือ 36.7% ใช้เวลา 850 วันที่ผมทำงานที่นี้ เราต้องพยายามกดให้ลงมาแถว 30% จากนี้ไปไม่ง่าย”
เรื่องที่สอง การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด จึงได้ลงทุน Core Bank และ AI มากขึ้น ในปีหน้า ซึ่งจะใช้เงินค่อนข้างมาก และยังไม่นับรวมการสร้าง Cloud อีกที่ต้องใช้เงินมาก เพราะฉะนั้น ปีหน้าใช้เงินลงทุนเยอะ โอกาสที่จะกดต้นทุนทำได้ไม่มาก แต่หวังผลในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังจากปรับระบบใหม่และมีการปรับโครงสร้างองค์กร จะทำให้ไทยพาณิชย์กลับมาก้าวกระโดด
เรื่องสุดท้าย จะเป็น Digital Bank ได้ต้องทำให้พนักงานมีคุณสมบัติ มีความรู้เป็น Digital Employee ที่ทำงานมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้
คุณกฤษณ์ บอกว่า ช่วงที่เข้ามาทำงานได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างพื้นฐานทำงานที่มั่นคง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีคะแนนความพึงพอใจของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่คาดปีนี้จะได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง และอีก 2 กลุ่มคือ ลูกค้ารายย่อย และลูกค้า Welath ตั้งเป้าหมายได้คะแนนความพึงพอใจเป็นอันดับหนึ่งในปี 2568 ซึ่งจะเป็นช่วงประเมินผลงานของการเป็น CEO ด้วย
ไทยพาณิชย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ยังมีเป้าหมายเหมือนเดิม คือ เป็นดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ เน้นการบริหารความมั่งคั่ง พยายามที่จะรักษาความพึงพอใจของลูกค้า
“ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความท้าทาย ธนาคารต้องเร่งเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างยั่งยืน ความสำเร็จที่เราเป็นในวันนี้ อาจไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้นำในวันข้างหน้า ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ไทยพาณิชย์จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้ยังวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและเป็นผู้นำต่อไปได้ โดยมีเป้าหมายในการนำยุทธวิธี AI-First Bank มาเป็นเครื่องยนต์หลักในการยกระดับธนาคารสู่ “ธนาคารแห่งอนาคต” ด้วยการนำ AI เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างสมบูรณ์ และมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงสร้างความพึงพอใจ แต่ต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้แบบรายบุคคล รวมถึงการนำ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและเตรียมความพร้อมของบุคลากร และสร้างไทยพาณิชย์ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้น” นายกฤษณ์ กล่าวปิดท้าย