Market

TPCH พื้นฐานแน่น! ชำระคืนหุ้นกู้ครบ 1,500 ลบ.  พร้อมเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SPNK กำลังผลิต 9.9 MW
11 ก.ค. 2567

บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ชำระคืนหุ้นกู้ พร้อมดอกเบี้ย 1,514 ล้านบาท ครบตามกำหนด ล่าสุด เซ็นสัญญากับกฟภ. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ อบต.นากลาง กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ เรียบร้อยแล้ว คาด COD ในปี 69 เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน ทั้งในและต่างประเทศผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH)  เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการชำระหุ้นกู้ที่ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2564 อายุ 2 ปี 9 เดือน (TPCH246A) อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.50% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งหมดรวมมูลค่าประมาณ 1,514 ล้านบาท ครบเต็มจำนวนเรียบร้อยแล้ว

 

 

"TPCH เล็งเห็นความสำคัญในการชำระคืนหุ้นกู้ ด้วยการบริหารจัดการทางการเงินที่รอบคอบ ระมัดระวัง และโปร่งใส เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย พร้อมกับนำเงินที่ได้ไปลงทุนดำเนินงานในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ตามแผนที่วางไว้” นางกนกทิพย์ กล่าว

 

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท สยาม พาวเวอร์ นากลาง จำกัด ที่ตั้งโครงการ ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สยาม พาวเวอร์ จํากัด (กิจการร่วมค้าของ TPCH) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยใช้เชื้อเพลิงมูลฝอยในปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 8 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569   

 

 

"TPCH ได้เซ็น PPA โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ซึ่งดำเนินการภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ และมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 8 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้บริษัทฯ มี PPA ในส่วนของโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มเป็น 29.3 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน ประเภทพลังงานขยะ เพิ่มประมาณ 4 โครงการ ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)” นายเชิดศักดิ์ กล่าว

 

 

สำหรับการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว โดยเข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างและได้เริ่มงานด้านโครงสร้างและรั้วกั้นโซนติดตั้งสถานีไฟฟ้า (Substation) บางส่วนแล้ว และมีการเซ็นสัญญางานวิศวกรรม งานจัดซื้อ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction (EPC Contract) กับผู้รับเหมาจากประเทศจีน พร้อมมีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

 

 

ด้านการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์

 

 

“บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายภายในปี 2569 จะมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและพลังงานขยะ ซึ่ง TPCH เร่งพัฒนาโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถ COD โครงการต่างๆ ได้ตามกำหนด เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต”นายเชิดศักดิ์ กล่าว

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com