กลุ่มทิสโก้ แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 5,521 เพิ่มขึ้น 1.9% ผลจากการเติบโตสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนทิศทางในช่วงที่เหลือของปีนี้มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมเฝ้าระวังคุณภาพสินทรัพย์มากขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รายล้อม
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 5,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 % ขณะที่งวดไตรมาส 3 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7 % จากช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนสูง ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสามารถเติบโตได้ดี แม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในด้านรายได้ค่าธรรมเนียมอ่อนตัวลงตามภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวยและเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs ratio) เพิ่มเป็น 2.25% จากไตรมาสก่อนที่ 2.20% จากกลยุทธ์การขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง บวกกับแรงกดดันด้านกำลังซื้อในลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ การตั้งสำรองหนี้สูญขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า
“สินเชื่อประเภทดอกเบี้ยคงที่ได้รับผล กระทบจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ทิสโก้จึงปรับกลยุทธ์โดยมุ่งการเติบโตไปในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ที่มีโครงสร้างงบดุลแข็งแกร่ง และใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว รวมถึงขยายการเติบโตไปยัง สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ผ่านการเร่งขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” เพื่อชดเชยผลกระทบด้านลบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดยังคงเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในวงกว้าง ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ทิสโก้จึงเพิ่มระดับความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”
ในระยะข้างหน้า กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3% ส่วนหนึ่งจากงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า การลงทุนภาคเอกชนยังเปราะบางจากแรงถ่วงของภาคการส่งออกที่อ่อนแอต่อเนื่อง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ในส่วนของต้นทุนทางการเงิน ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น จากการปรับดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน ขณะที่การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ยังคงยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ทั้งผ่านมาตรการที่ทิสโก้ดำเนินการขึ้นเองและมาตรการที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ตามความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย รวมถึงเดินหน้าเสริมสร้างทักษะทางการเงินแก่ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ต่อเนื่อง หวังแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังได้อย่างยั่งยืน
สรุปผลประกอบการสำหรับงวดไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2566
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากไตรมาส 3 ปี 2565 สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 10.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อจำนำทะเบียน ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด ในส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักชะลอตัวลง ทั้งค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่อ่อนตัวลง ตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัว ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงซบเซา ตามความผันผวนของตลาดทุนและปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.6% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย และมีอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่ 205.8%
สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 กำไรสุทธิมีจำนวน 5,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จาก 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต 9.3% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 90.8% ผลจากการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายและการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF สู่ระดับปกติ สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 2.4% จากค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.9% จากค่าใช้จ่ายการลงทุนในระยะยาว ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 6.2% เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นในสภาวะที่เศรษฐกิจยังคงเปราะบาง
ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 17.7% เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีจำนวน 231,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จากสิ้นปี 2565 จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยเฉพาะสินเชื่อ “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่มขึ้น 17% จากการเปิดเครือข่ายสาขา ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังคงชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์ ในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.25% ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตไปยังกลุ่มสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ประกอบกับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง พร้อมติดตามและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.6% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.0% และ 3.6% ตามลำดับ