STA แนะชาวสวนยางและผู้ค้ายางมีพิกัด GPS รองรับการตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิตตามกฎหมาย EUDR ของ EU เพิ่มโอกาสแข่งขันในตลาดโลก ชูแอปพลิเคชัน “SRI TRANG FRIENDS” เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศอุตสาหกรรมยางเพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิต
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางอันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากสหภาพยุโรปเตรียมบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าหรือ EU Deforestation Free Regulation (EUDR) ส่งผลให้การส่งออกยางพาราและสินค้าที่แปรรูปจากยางพาราไปยังทวีปยุโรป จะต้องผ่านการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลผลิต เพื่อแสดงหลักฐานว่าไม่ได้มาจากพื้นที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและไม่ได้มาจากพื้นที่บุกรุกป่า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ผู้ผลิตและส่งออกยางพาราจะต้องจัดทำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่เพื่อพบปะและพูดคุยกับเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงสอบถามข้อมูลตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ได้แก่ 1) สินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูป ต้องไม่ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม 2) สินค้าต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ 3) สินค้าต้องได้รับการตรวจสอบและประเมิน (Due Diligence) โดยผู้ผลิตและส่งออกจะต้องส่งรายงานการตรวจสอบก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ค้ายางที่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลผลิต และการให้ข้อมูลแก่บริษัทฯ จะสามารถได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยรอบของที่อยู่อาศัย ความมั่นคงและปลอดภัยในการประกอบอาชีพรวมทั้งโอกาสในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นจากโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกไปยังยุโรปหรือภูมิภาคอื่นๆ ที่นำยางพาราไปแปรรูปซึ่งจะเป็นประโยชนต่อเกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของไทย รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอนาคต หากภูมิภาคอื่นๆ บังคับใช้การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน SRI TRANG FRIENDS (ศรีตรังเพื่อนชาวสวน) เพื่อเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยางพาราและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของไทยสู่ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรและผู้ค้ายาง โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ Android และ IOS และกรอกข้อมูลพร้อมแนบไฟล์เอกสารหลักฐาน ทำการยืนยันตัวตน เพื่อสมัครใช้บริการ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาแอปฯ ดังกล่าวให้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถจัดเก็บข้อมูลพิกัดแปลงปลูกยางจากเกษตรกร เพื่อยืนยันการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของยางพารา โดยทำเป็น “ยางมีพิกัด(GPS)” ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่จะต้องตรวจสอบและประเมินสินค้าจากซัพพลายเออร์ (Supplier Due Diligence) เพื่อยืนยันว่าเป็นยางพาราที่ผ่านมาตรฐานตามกฎหมาย EUDR โดยบริษัทฯ ได้ลงพื้นที่เข้าถึงเกษตรกรและผู้ค้ายางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ค้ายางและเกษตรกร ให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ และสามารถนำข้อมูลไปใช้อย่างโปร่งใสและปลอดภัย
“การให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การไม่สนับสนุนสินค้าที่มาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่สนับสนุนการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสนใจ นอกจากนี้การปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพารา โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งยางสีเขียว หรือ Green Rubber Company พร้อมสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางในการส่งออกยาง EUDR ในตลาดโลก” นายวีรสิทธิ์ กล่าว
#SRITRANGGROUP #กลุ่มบริษัทศรีตรัง #ศรีตรังผู้นำด้านEUDR #ยางมีพิกัด(GPS) #ศรีตรังเพื่อนชาวสวน