KTAM มองภาพรวมตลาดเริ่มแข็งแกร่ง สหรัฐชี้ดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบ หวังเห็น ศก. ชะลอตัวมากกว่าถดถอย คาดศก.ไทยโตต่อ - ดอกเบี้ยขึ้นสุด 2.50% ชี้ตลาดหุ้นไทย 7 เดือน ปรับลดลงมาถูก หลังต่างชาติขาย คาดเป้าดัชนี ณ สิ้นปีที่ 1,640 จุด แย้มแผนชงกองทุนประเภท Structure Product มากขึ้น ชูลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินลงทุน และอ้างอิงกับผลตอบแทนกับดัชนีต่างๆ พี้พร้อมออก RMF เพิ่ม
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM นำผู้บริหาร ร่วมแถลงข่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก จากนี้ถึงสิ้นปีนี้ ว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนของโลกมีปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ สหรัฐที่อัตราเงินเฟ้อ น่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง แต่ก็จะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่จะเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ (Soft Landing) ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะทำการลดอัตราดอกเบี้ยในประมาณกลางปีหน้า
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่ยังมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กำแพงภาษี การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดปัญหาอุปทานขาดแคลนจากการกีดกันทางการค้า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
สำหรับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าอัตราการเติบโตยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำ (Slow Growth) จากปัญหาหนี้ที่สูงขึ้นในแทบทุกประเทศ ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เคยกดดันการใช้จ่ายน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงในหลายประเทศ แต่โดยรวมแล้วเงินเฟ้อยังน่าจะสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆ อยู่่ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่เร่งตัวก่อนหน้านี้จะสิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่การปรับดอกเบี้ยลง ยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน
"ธนาคารกลางต่างๆ ยังน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย จึงอาจต้องติดตามผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง(Severe Recession) อีกทั้ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังจะเห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ต่อเนื่อง ทำให้ศักยภาพในการเติบโตระยะยาวด้อยลง แม้ว่าในระยะนี้อาจเป็นตัวเร่งให้มีการลงทุนขยายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแต่ก็เป็นผลดีเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น" นางชวินดา กล่าว
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการฟื้นตัวที่สำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่อาจจะเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและต่อเนื่องถึงปีหน้า หลังจากที่ครึ่งปีแรก เข้ามาไทยแล้วจำนวน 12 ล้านคน ส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อไทยที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply push) แต่ไม่ได้เป็นปัญหายืดเยื้อเหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ อาจจะไม่ได้สูงนัก โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.50% เพื่อปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับ “สมดุล” และไม่ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับต่างประเทศสูงจนเกินไปนัก แต่ทว่าในภาพระยะยาว ประเทศไทยยังมีความท้าทายในด้านความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และประเด็นสังคมสูงวัย
"ตลาดหุ้นไทยใน 7 เดือนที่ผ่านมา มีความผันผวนและให้ผลตอบแทนที่ติดลบและต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลก เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมถึงการประมาณการเศรษฐกิจไทยที่เติบโตน้อยกว่าคาด อันเป็นผลจากภาคการผลิตและภาคส่งออกของไทยถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยโลกที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย"
หากพิจารณาจากปัจจัยต่างประเทศ จะเห็นว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดหรือPeak แล้ว ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงยังมีโอกาสค่อนข้างน้อย ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกภายในประเทศไทยจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมคาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ High season ในไตรมาส 4 รวมถึงภาพการเมืองที่ชัดเจนขึ้นจะทำให้แนวโน้มตลาดไทยผันผวนลดลง โดยเฉพาะเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งนี้ คาดว่าจะการชุมนุมประท้วงจะไม่รุนแรงเท่าในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อมีแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้
"แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงบ้างจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ผ่านมา ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนและภาระดอกเบี้ยให้ภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มของการเกิดภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการบริโภคได้ด้วย"
โดยบลจ. กรุงไทย คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 10-12% มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ระดับ 3.2-3.4% เป็นระดับที่ Valuation ไม่แพงนัก ซึ่งปัจจุบัน P/E อยู่ที่ประมาณ 15-16 เท่า โดยประเมิน SET Target ที่ 1,640 จุดณ สิ้นปี 2566 ส่วนกรอบล่างอยู่ที่ 1,400 กว่าจุด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยได้สะท้อนความกลัวและความกังวลของนักลงทุนในประเด็นความเสี่ยงจากการเมือง และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปพอประมาณแล้ว ขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำจากการขายออกมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทที่น่าจะกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้ จากปัจจัยเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น จึงคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้กลับเข้าตลาดตราสารทุนไทยได้ โดย KTAM คาดการณ์ SET Target ที่ 1,750-1,770 จุด ณ สิ้นปี 2567
KTAM. แนะกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี จะพิจารณาเลือกสรรหุ้นและอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภค และภาคบริการภายในประเทศ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกประคองตัวได้ (ไม่เป็น Recession รุนแรง) และหุ้นที่ผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
"สำหรับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มองว่าให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในปีนี้ จากทั้งเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดภาวะถดถอยดังที่นักวิเคราะห์กังวลก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจมีความทนทานต่อดอกเบี้ยสูงได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อที่สูงก็ส่งผลดีต่อตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียน กระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ส่งผลดีต่อกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน"
ทั้งนี้บลจ.กรุงไทย ได้ประเมินภาพการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูง ดังนั้น การเลือกลงทุน (Selection) จึงมีความสำคัญมากขึ้น โดยจะเป็นลักษณะที่จะเลือกการลงทุนเป็นประเทศๆ จะไม่มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันทั้งโลก จากการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกว่าในประเทศเกิดใหม่หลายประเทศซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำและสามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในครึ่งหลังของปี โดยหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควรทำให้บางตลาดเริ่มมี Valuation ที่ “แพง” นักลงทุนจึงอาจต้องเน้นในกลุ่มประเทศ/อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเติบโตที่มีคุณภาพในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีและมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น
ดังนั้น นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้ ก็ควรให้ความสนใจที่จะเลือกลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้นั้น อัตราดอกเบี้ยอาจจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วและน่าจะมีทิศทางอ่อนตัวลง ซึ่งอาจเหมาะกับการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนสูงไม่ได้ อาทิเช่น นักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้มากควรลงทุนในหุ้นประมาณ 70% และลงทุนในตราสารหนี้เพียง 30% ในทางกลับกัน สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำก็ควรลงทุนในหุ้น 30% และลงทุนในตราสารหนี้ถึง 70% เป็นต้น
KTAM ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุน โดย บริษัทได้พยายามเฟ้นหาโอกาสการลงทุนจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทมีแผนจะนำเสนอกองทุนประเภท Structure Product มากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินลงทุน และอ้างอิงกับผลตอบกับกับดัชนีต่างๆ ตามสภาวะตลาด เพื่อเปิดรับโอกาสที่จะสามารถหาผลตอบแทนได้ทั้งจากในช่วงที่ตลาดปรับขึ้นและปรับลงได้ รวมถึงจะทยอยเปิดกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นทางเลือกที่หลายหลายให้นักลงทุนยิ่งขึ้น โดยจะเน้นรายประเทศหรือกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ และมีโอกาสสร้างการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงยึดหลักการบริหารจัดการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ภายใต้กระบวนการการกำกับดูแลที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นสำคัญอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนให้กับนักลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ให้มีความหลากหลายเพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์และบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ บริษัทฯ มีฐานลูกค้าในทุกดิจิทัลแพลตฟอร์มรวม PVD online และ Krungthai NEXT กว่า 1.53 ล้านราย(ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2566)
นอกจากนี้ บริษัทยังคงผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนและการบริการให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน โดยล่าสุดได้เพิ่มบริการหักเงินค่าซื้อกองทุนเพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนที่ใช้บริการธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทฯ มีนักลงทุนที่ใช้บริการผ่าน KTAM Smart Trade แล้วกว่า 44,000 บัญชี
บลจ.กรุงไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด (AUM) ภายใต้การจัดการของบริษัทอยู่ที่ที่789,261 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนตลาดที่ 9.2% เติบโต 3.3% YoY แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) อยู่ที่ 571,197 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาดที่11.5% เติบโต 1.6 % YoY, กลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) อยู่ที่ 59,715 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาดที่ 2.7% เติบโต 32.1% YoY และกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) อยู่ที่ 158,349 ล้านบาท คิดเป็น 11.4% เติบโต 1.2% YoY (ข้อมูล : AIMC ณ 30 มิ.ย. 2566)