TNL แจงความคืบหน้าหลังปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ อัดงบ 2-3 พันล้านบาท ปี 67 ขยายพอร์ตสินเชื่อ ดันรายได้โต
นายนันทวัฒน์ สุรวัติเสถียร หัวหน้าคณะผู้บริหาร สายงานการเงิน บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) เปิดเผยถึงความคืบหน้าภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ หลังปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2565 ว่า บริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจใหม่เป็น New Engines มาเสริมธุรกิจเดิมที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังแต่เพียงอย่างเดียว เป็น 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2.ธุรกิจให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีหลักประกัน (Asset Financing) 3.ธุรกิจการเงินประเภทธุรกิจบริหารสินทรัพ์ (AMC) และ 4.ธุรกิจการลงทุนในบริษัทร่วมทุนเพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย
“เราเชื่อว่า การมีธุรกิจ “Asset Financing” ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันหลัก และมีธุรกิจ AMC ที่เน้นสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน รวมถึงการมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ทำให้กลุ่มบริษัทมีเครือข่ายและแชร์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถือจุดแข็งที่ช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว” นายนันทวัฒน์ กล่าว
นายนันทวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 67 บริษัทตั้งเป้ารับรู้รายได้จากผลกำไรในธุรกิจเข้ามา ที่จะส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตขึ้น พร้อมเตรียมงบลงทุน 2-3 พันล้านบาท เพื่อเดินหน้าธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะด้าน Financial Service เพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อ และขยายการลงทุนในพอร์ตหนี้เสียมากขึ้น ซึ่งในธุรกิจ AMC ได้เริ่มประมูลหนี้ NPL เข้ามาบริหารในปีนี้เป็นปีแรก ปัจจุบันมีมูลหนี้กว่า 1.6 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 67 จะเติบโตเป็น 2 เท่า
ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย บริษัทได้ร่วมทุนกับ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ผ่านบริษัทร่วมทุน (JV) ในสัดส่วน 50:50 ซึ่งปัจจุบันมีโครงการเปิดขายอีก 8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทยอยโอนให้ลูกค้าตั้งแต่ปี 67 คาดว่าจะปิดขายโครงการทั้งหมดในปี 71
สำหรับธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นธุรกิจเดิม ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้กว่า 70% ของรายการรวม คาดจะในปี 67 จะทำรายได้ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 2 พันล้านบาท