Market

‘POLY’ ผลิตสินค้าใหม่ “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” รับเทรนด์ Homecare ในอเมริกาเติบโต หนุนรายได้ไตรมาส 4 โตต่อเนื่อง
25 ธ.ค. 2567

‘บมจ.โพลีเนต’ หรือ POLY เปิดตัวสินค้าใหม่ “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” (Chest Drains for Surgery) รับเทรนด์ตลาด Homecare ของชาวอเมริกา ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ไตรมาส 4/2567 รับรู้รายได้เพิ่มจากค่าผลิตแม่พิมพ์ ชิ้นงาน และค่าประกอบชิ้นงาน หนุนการเติบโตต่อเนื่อง ตั้งเป้ารายได้จากการผลิตอุปกรณ์เก็บเลือกสำหรับผ่าตัดทรวงอกในปี 2568 ที่ 2 ล้านบาทต่อเดือน ก่อนขยับเพิ่มเป็น 5-6 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2569 และปรับเพิ่มเป็น 20 ล้านบาทต่อเดือนภายในปี 2571

 

นางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ POLY ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบครบวงจร เปิดเผยว่า POLY ได้พัฒนาแม่พิมพ์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนงานหลักของ “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” (Chest Drains for Surgery) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายผลิต 1,000 เซตต่อเดือน และเพิ่มเป้าหมายเป็น 2,500-3,000 เซตต่อเดือนในปี 2569 และ 10,000 เซตต่อเดือนในปี 2570 ตามลำดับ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด Homecare ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาดประมาณ 100,950 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7.2% ต่อปี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าภายในปี 2577 จำนวนผู้สูงอายุในสหรัฐฯ จะมีมากกว่าวัยรุ่น และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2593 นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุว่ากว่า 60% ของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาและผ่าตัดทรวงอกในโรงพยาบาลต้องการกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

 

ปัจจุบัน หลังจากการผ่าตัดทรวงอกยังไม่มีการอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากต้องใช้ระบบสุญญากาศในการดูดเลือดออก (Vacuum) จากทรวงออก ซึ่งระบบดังกล่าวจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยวัดและบันทึกการรั่วไหลของอากาศ (air leakage) ในทรวงอก / ปอด อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” ดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้น และมีค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับการพักฟื้นในโรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์สามารถดูและวัดผลแนวโน้มของค่าต่างๆ ผ่านหน้าจอดิจิทัลที่แม่นยำจากอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อวินิจฉัยอาการและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ป่วยจะต้องกลับมาที่โรงพยาบาลเพื่อถอดอุปกรณ์ดังกล่าวหลังจากรักษาตัวเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถพกพากลับบ้านได้ และจะมี Application การตรวจวัดเพื่อให้แพทย์ติดตามผลระหว่างที่คนไข้พักรักษาตัวที่บ้าน

 

จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ไตรมาส 4/2567 นี้ POLY จะมีการรับรู้รายได้จากค่าแม่พิมพ์ การผลิตชิ้นงาน และค่าประกอบชิ้นงาน และเริ่มผลิตชิ้นงานหลักภายในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีชิ้นงานอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบเล็กน้อย ซึ่งจะทยอยย้ายฐานการผลิตมาที่ POLY ทั้งหมด มีเพียงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลูกค้าเป็นผู้ผลิตเอง  โดยในปี 2568 POLY ได้ตั้งเป้ารายได้จากการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวที่ 2 ล้านบาทต่อเดือน และเพิ่มเป็น 5-6 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2569 และจะเพิ่มเป็น 20 ล้านบาทต่อเดือนภายในปี 2571

 

“สินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนและเครื่องมือทางการแพย์เป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง เนื่องจากมีความซับซ้อนทางการผลิต และเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อความต้องการใช้ คาดว่าในการผลิตแม่พิมพ์ ชิ้นงาน และประกอบชิ้นของอุปกรณ์ผ่าตัดทรวงอก จะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า 50% ซึ่งจะทำให้ POLY มีกำไรขั้นต้นจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2568 – 2571” นางกาญจนา กล่าว

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com