บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ไฟเขียวเพิ่ม 4 กฎเหล็กคุมปัญหา ซื้อขายผิดปกติ " Uptick" ขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์ "Auction" เบรกหุ้นร้อน "ตั้งเวลาขั้นต่ำ" ของ Order ที่ชักเข้าๆออกๆ ถูกปัดทิ้ง และ บล.-ลูกค้า HFT ต้องลงทะเบียนดูข้อมูลเทรดส่องพฤติกรรมคาดเกณพ์แต่ละมาตรการทะยอยอออกบังคับใช้ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกระดับมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้นไทยว่า ในช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมา (29 ก.พ.-21 เม.ย..) ตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการจัดทำ Focus group และ Public Hearing (เปิดรับฟังความคิดเห็น) เกี่ยวกับมาตรการที่จะกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และได้ข้อสรุปมาตรการกำกับดูแล จึง ได้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด ตลท.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้เห็นชอบแนวทางในรายละเอียดและหลักการเพิ่มเติมของ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่
1 การให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ได้ ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) เพื่อควบคุมผลกระทบจาก short selling โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567
2 การเพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย level 2 เพื่อใช้ควบคุมการกำกับดูแลหุ้นที่มีความผันผวนหรือการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ โดยมาตรการนี้จะเปิดการจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ(Pre-open 1, Pre-open 2 และ Pre-close ก่อนปิดตลาดช่วงเย็น) ซึ่งจะต้องทำการแก้เกณฑ์รองรับก่อน สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย level 2 จะเป็นการเพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction ส่วนหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย level 3 เมื่อหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันแล้ว หลักทรัพย์นั้นจะยังติดเกณฑ์ซื้อขายด้วย Auction โดย ตลท. เชื่อว่า มาตรการนี้จะสามารถลดการที่หุ้นจะถูกดึงราคาขึ้นหรือดึงราคาลง หรือการเข้ามาสร้างราคา เป็นการป้องกันความผันผวนผิดปกติ
3 กำหนดเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ไว้ที่ 0.250 วินาที (250 milliseconds) เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรณีส่งคำสั่งซื้อและส่งคำสั่งขาย และถอนออกเร็ว ๆ และกำหนดคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าว order จะถูกปฏิเสธ (Reject)โดยระบบทันทีคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 4/2567
4 กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและลูกค้าที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading: HFT) และใช้ SET Colocation (ติดตั้งเครื่องเซิฟเวอร์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อส่งคำสั่งซื้อขาย) จะถูกกำกับดูแล โดยกำหนดต้องยื่นคำขอและไฟลิ่งข้อมูล(Register) ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account ของOmnibus Account ซึ่งจะมีข้อตกลงในกรณีที่มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม จะถูกระงับการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ ใน เบื้องต้นคาดจะเริ่มบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส2/2567
บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีมาตรการแก้ปัญหาเช่นกรณี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เรื่องการใช้หลักประกันเดียวกันไปเพิ่มวงเงินในหลายบริษัทหลักทรัพย์ ควรเร่งดำเนินการเร็วที่สุด ดังนั้น ตลท. จะร่วมกับ ASCO และ ก.ล.ต. ในการออกกฎเกณฑ์มารองรับ และจะจัดให้มี Data Exchange Platform ให้สมาชิกบล. ใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา“ให้-เพิ่ม-ลด” วงเงินของลูกค้า
นอกจากนี้ บอร์ด ตลท. แนะนำให้ติดตามและจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดเป็นระยะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมมาตรการอื่นตามความเหมาะสมต่อไป