Market

GFC เคาะราคา IPO 7 บาท จองซื้อ 4-6 ก.ย.นี้  ปักหมุดลงสนามเทรด mai  13 ก.ย.นี้ 
1 ก.ย. 2566

บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ “GFC” เคาะราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 7.00 บาท เปิดจองซื้อจำนวน 60 ล้านหุ้น วันที่ 4-6 ก.ย.66 จ่อเข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์ mai ในหมวดธุรกิจบริการ 13 ก.ย.นี้ ชูจุดเด่นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ“GFC” ลงนามในสัญญาแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Lead Underwriter) พร้อมแต่งตั้ง อีก 4 บริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Co-Underwriter)

ในการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 0.50 บาท โดยเสนขายในราคาหุ้นละ 7.00 บาท 

 

นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะ  เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 7.00 บาท กำหนดเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการ ในวันที่ 13 กันยายน 2566 ภายใต้ใช้ชื่อย่อ “GFC”

 

สำหรับราคาเสนอขายหุ้นละ 7.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio)          ที่ 21.17 เท่า เมื่อเทียบกับ P/E กลุ่มที่ระดับ 31.32 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเพิ่มขึ้น 

 

จุดเด่นที่น่าสนใจของ GFC คือการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และเราถือว่าเป็นผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้รายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 

 

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า GFC  มีจุดแข็ง ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยาก ด้วยประสบการณ์มากกว่า 23 ปี จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ โดยพิสูจน์จากอัตราความสำเร็จ ( Success Rate ) ที่ GFC มีเป็นเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการรักษาการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม สะท้อนออกมาในรูปของผลการดำเนินงานที่มีอัตราการเติบโตของรายได้โตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 13.37% โดยกลุ่มบริษัทฯมีรายได้จากการให้บริการในปี2563 - ปี2565 และงวด 6 เดือนปี 2566 เท่ากับ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท และ 166.95 ล้านบาท ตามลำดับ 

 

สำหรับรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ จะสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 -2565 และงวด 6 เดือนปี 2566 เท่ากับ 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท 65.68 ล้านบาท และ 34.33 ล้านบาท ตามลำดับ อีกทั้ง อัตราส่วน ROE และอัตราส่วน ROA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงสุดถึง 72.29%

 

นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รองประธานกรรมการ บมจ. เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ “GFC” เปิดเผยว่า ธุรกิจศูนย์ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากมีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคต โดย 5 กลุ่มการให้บริการของ GFC ได้แก่ 1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI 3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI 4. การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (NGS) และ 5. การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่  

 

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเติบโตเพิ่มขึ้น นั้น มาจากการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Allied Market Research ในปี 2562 พบว่า ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 14.20 ต่อปี

 

โดยมองว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด หรือมีมูลค่าประมาณ 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Fertility Tourism ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น 

 

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “GFC” กล่าวเสริมว่า GFC พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคงยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ในการแข่งขัน ได้แก่ 1. การให้บริการแบบครบวงจร 2. เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัย 3. บุคลากรที่มีความชำนาญการ 4. คุณภาพในการให้บริการที่เป็นเลิศ และ 5. การประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับลูกค้า และที่สำคัญ GFC พิสูจน์ถึงศักยภาพและความพร้อมก้าวสู่ธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้ 

 

ซึ่งเม็ดเงินที่ได้ จำนวน 420 ล้านบาท บริษัทฯจะนำไปขยายการลงทุนโครงการคลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนโครงการคลินิกสาขาอุบลราชธานี เพื่อขยายฐานการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากไปยังกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นยุทธ์ศาสตร์การกระจายความเสี่ยงของรายได้ ที่ไม่อยู่ในกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว เนื่องจากบริษัทฯยังคงมีแผนขยายพื้นที่ในการให้บริการของกลุ่มบริษัท ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศมากขึ้น  

 

“ในฐานะ CEO มองว่า GFC จัดเป็นหุ้นประเภท Growth Stock ที่สามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ และบริษัทฯ มีเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในอนาคตที่สูง ด้วยการลงทุนต่อยอดธุรกิจที่ชัดเจนดังนั้นจึงอยากให้นักลงทุนเติบโตไปพร้อมกับGFC”  

 

สำหรับผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Co-Underwriter) ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com