IMPACT กางแผน “Business Direction 2024 – 2025” ประกาศกลยุทธ์การเติบโตรับอุตสาหกรรม MICE งานอีเวนท์ การจัดประชุม และคอนเสิร์ตระดับโลก เดินหน้าจัดงานคึกคัก ด้าน “พอลล์ กาญจนพาสน์” ปั้นอาณาจักร IMPACT มุ่งสู่ Smart City ขณะที่ แผนการก่อสร้างโครงการ Sky Entrance เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ คาดแล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ ปี 2568 เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนโอกาสการเติบโตของ IMPACT GROWTH REIT ผู้นำศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ลุยขยายฐานลูกค้า โฟกัสงานต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะ จีน รวมทั้ง โฟกัสอินเดีย เวียดนาม และเกาหลี ส่องในช่วงที่เหลือของปีการจัดงานระดับเวิล์ดคลาสปูพรมจัดที่ IMPACT ต่อเนื่อง
นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์กองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็ค โกรท (IMPACT GROWTH REIT) หรือ IMPACT ผู้นำศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโต ปักธง 3-5 ปีจากนี้ เดินหน้าขยายอาณาจักร IMPACT มุ่งสู่ SMART City นำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการสถานที่จัดประชุม นิทรรศการ คอนเสิร์ต และกิจกรรมต่างๆ แบบครบวงจร รวมทั้ง สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ยกระดับการเดินทางด้วยการเชื่อมต่อกับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนในปี 2568 ภาพรวมเมกะอีเวนท์คึกคัก
อย่างไรก็ดี ภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในปี 2568 และเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ TCEB ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) พบว่า ทิศทางอุตสาหกรรม MICE มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่า ปี 2568 ไทยจะมีรายได้จากอุตสาหกรรม MICE ถึง 2 แสนล้านบาท สะท้อนโอกาสในการผลักดันประเทศไทยเป็น Hub การจัดงานแห่งภูมิภาค
โดยกลยุทธ์ของ IMPACT ในช่วง 3 - 5 ปีจากนี้ นอกจากขยายฐานลูกค้าในประเทศไทยแล้ว ยังเปิดเกมบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น สะท้อนจากภาพรวมงานกลุ่ม Entertainment ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของสถานการณ์โควิด-19 รายได้อยู่ที่ประมาณ 224 ล้านบาท และในปี 2567 คาดการณ์สิ้นปีรายได้จะอยู่ที่ประมาณ 380 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 70% อาทิ งานคอนเสิร์ต และงานมิวสิคเฟสติวัล ที่มีกลับมาจัดงานหลังโควิดอย่างคึกคัก
และอีกไฮไลท์ที่เติบโตขึ้นมาก คืองานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ในปี 2566 กลุ่มนี้ทำรายได้ 123 ล้านบาท สิ้นปีนี้คาดเติบโตเท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาท อย่างไรก็ดี งานในกลุ่ม Global Conventions อยู่ระหว่างพูดคุยและรอคอนเฟิร์มเพิ่มเติม ขณะที่งาน Exhibitions ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเติบโตตามสภาวะเศรษฐกิจ และคาดการณ์จะดีขึ้นต่อเนื่อง มีงานใหญ่เข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติมอีก
“IMPACT เราเป็นศูนย์ประชุมและการจัดงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ในอนาคตเราจะขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งงาน Incentive Entertainment Exhibition กลุ่มพวกนี้มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตลาดจีนที่ตอนนี้มีการเติบโตขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น งานใหญ่อย่าง MOTOR Expo ปีที่แล้วเรามีแบรนด์จีนจัดงานที่ IMPACT จำนวน 7 แบรนด์ ปี 2567 นี้ก็คาดจะมี 19 แบรนด์ เติบโตก้าวกระโดด ใช้พื้นที่ในฮอลล์เต็มพื้นที่ นอกจากนี้ ยังโฟกัสกลุ่มใหม่ๆ อาทิ อินเดีย เวียดนาม และ เกาหลี” นายพอลล์ กล่าว
สำหรับภาพรวมธุรกิจของ IMPACT ในการบริหารงานและบริการที่ครบวงจร สร้างแวลู่ให้กองทรัสต์ และในปี 2567 กองทรัสต์ครบรอบ 10 ปี เรามั่นใจว่า IMPACT GROWTH REIT เป็นกองทรัสต์ที่มีความมั่นคง งานใหญ่ๆ จัดที่นี่มากมาย แม้วิกฤติโควิด ก็ยังมีการจ่ายปันผลต่อเนื่องทุกปี และยังมีโอกาสขยายการเติบโตในอนาคต
นางสาววันเพ็ญ มุ่งเพียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ เอ็ม ไอ จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็ค โกรท (IMPACT GROWTH REIT) ผู้นำด้านการให้บริการสถานที่จัดประชุม นิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ แบบครบวงจร เปิดเผยถึง ภาพรวมของกองทรัสต์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความมั่นคงในการเติบโต และการจ่ายปันผลตอบแทนผู้ถือหน่วยต่อเนื่องทุกปี ด้วยการบริหารจัดการผ่านทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมด 4 แห่ง ตั้งอยู่ในโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีพื้นที่รวม 479,761 ตร.ม. และพื้นที่จัดแสดงงานสุทธิ 122,165 ตร.ม. ประกอบด้วย ศูนย์การจัดแสดงอิมแพ็ค อารีน่า อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (ฮอลล์ 1-3) ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม (ฮอลล์ 4) และศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ฮอลล์ 5-12)
ด้วยจุดเด่น IMPACT เป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย และเป็นกองทรัสต์ศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง โดยปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 50% ของภาพรวมการจัดงานประชุมและนิทรรศการในประเทศ ฐานลูกค้ามีความหลากหลาย ในงวดปี 2566 ที่ผ่านมา (งบปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567) สัดส่วนงานภาคเอกชนอยู่ที่ 57% รัฐบาล 21% และต่างประเทศ 22% สะท้อนความไว้วางใจ และสามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดี ในด้านอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ยรวม (Occupancy Rate) อยู่ที่เกือบ 50% ณ งวดไตรมาส 1 ปี 2567/2568 (เมษายน - มิถุนายน 2567) และมีอัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยรวม 85.8 บาทต่อตารางเมตร นับเป็นการใช้อัตราพื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการจัดงานมีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้ง งานใหญ่จากต่างประเทศที่ต่อคิวรอไปจนถึงสิ้นปีนี้ และในปีหน้า ตั้งเป้าในปี 2567/2568 (งบปีสิ้นสุด มีนาคม 2568) รายได้จะเติบโตราว 25% จากปีก่อนมีรายได้รวมประมาณ 1,752 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ Sky Entrance ปัจจุบันดำเนินงานก่อสร้างไปแล้วถึง 62.6% (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567) คาดแล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ ปี 2568 ซึ่งเป็นทางเดินในร่มเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า MT-01 (สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี) และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินหลักที่ กองทรัสต์ IMPACT เข้าลงทุน สามารถต่อยอดธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต