“AF” เดินหน้ารุก มุ่งเป้าขยายพอร์ตปล่อยสินเชื่อ 4 กลุ่มธุรกิจ อาทิ พลังงานทดแทน - บริการทางการแพทย์ - อาหารเครื่องดื่ม และโลจิสติกส์ ชี้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีเทรนด์การขยายตัวเติบโต ต่อยอดการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งผ่านช่องทางออนไลน์ และ ขยายพอร์ตสินเชื่อ ประหยัด GREEN Project ส่งซิกปี67 ตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ภายใต้แผนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้นำด้านการให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า แนวโน้ม อุตสาหกรรมการปล่อยสินเชื่อในปี 2567 ยังคงต้องจับตาทิศทางและภาพรวมทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นในปี 2567 บริษัทฯจึงเน้นปล่อยให้สินเชื่อด้วยความระมัดระวัง กำหนดเป้าหมายไปยังอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต เพื่อเป็นการควบคุมและบริหารความเสี่ยง
ทั้งนี้ AF มองหาโอกาสในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนกลยุทธ์ขยายการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2567 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, 2.กลุ่มธุรกิจทางการแพทย์, 3.กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ 4.กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ โดยในปี 2567 บริษัทฯตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2566 พร้อมขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ในการปล่อยสินเชื่อ บริษัทฯคำนึงถึงการให้สินเชื่อโดยมีการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งมีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงองค์กรให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ เพื่อสอดรับกับนโยบายของบริษัทฯที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ภายใต้การกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสำหรับสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดนโยบายและแผนงานการบริหารความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากการที่บริษัทฯได้รับคะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ประจำปี 2566 โดย AF ได้รับคะแนนจากการประเมิน 99% ขณะที่บริษัทจดทะเบียนกลุ่มธุรกิจการเงินได้คะแนนเฉลี่ย 88% และยังติด Top Quartile บริษัทจดทะเบียนโดยรวม และกลุ่มที่มี Market Cap 1,000 – 2,999 ล้านบาท และยังได้รับคะแนนหมวดการเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใสในระดับดีเยี่ยม คือ 102% ซึ่งเป็นคะแนนเกิน 100% และจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ AF มั่นใจว่าจะสามารถบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเชื่อมั่นในความโปร่งใสและการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการขอสินเชื่อของบริษัทในปัจจุบัน ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังพ้นช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 แม้อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงชึ้น ต่อเนื่อง สอดคล้องมูลค่าอุตสาหกรรมแฟคตอริ่งที่มีมูลค่าการปล่อยสินเชื่อรวม ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ยังมีผู้ประกอบการประเภท SMEs ในประเทศจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ จึงเป็นโอกาสของผู้ให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งเร่งกลยุทธ์เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา AF ยกระดับการให้บริการทางช่องทางอิเลกทรอนิกส์ ผ่านแพลตฟอร์ม“แฟคตอริ่งออนไลน์” ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่ง ที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์รายแรกของประเทศไทย ที่ให้บริการยื่นขอสินเชื่อทางอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งหลังจากที่เริ่มเปิดให้บริการเฟสแรกในช่วงปลายไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา มีผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า ซึ่งรูปแบบการให้บริการดังกล่าว ช่วยให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถยื่นขอสินเชื่อแฟคตอริ่งได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
ส่วนแผนการพัฒนา แฟคตอริ่งออนไลน์ เฟสที่ 2 นั้นคาดว่าจะเริ่มช่วงกลางปี2567 โดยบริษัทฯตั้งเป้าอัตราการเติบโตของกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการสินเขื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ในช่วงปีแรก และคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 20% ในปีถัดไป
นอกจากนี้ AF ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับโครงการพลังงานสะอาด โครงการประหยัดพลังงาน หรือ GREEN Project ให้กับลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องปณิธานของบริษัทฯเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และร่วมรับผิดชอบต่อสังคม สอดรับกับแนวทาง ESG ในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทฯปล่อยสินเชื่อทุกประเภท สำหรับลูกค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างพลังงานสะอาด รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าอัตราเติบโตการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม GREEN Project เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 20%
“ แนวโน้มความต้องการทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs จะยังมีเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับตัวเข้าสู่ Net Zero ซึ่ง ส่งผลในการขยายฐานลูกค้าของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และผลกำไรของบริษัทฯ ในอนาคต”