ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำส่ง SET Note ฉบับที่ 6/2567 “SET ESG Data Showcase: Carbon Emission ของบริษัทจดทะเบียนไทย”
สรุปประเด็นสำคัญ
· ข้อมูลด้านความยั่งยืน เป็นข้อมูลที่แสดงถึงนโยบาย ผลกระทบ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจ ภายใต้ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรทั้งในด้านความมีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีศักยภาพในการแข่งขัน และการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
· ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาระบบ ESG Data Platform ที่มีจุดเด่น คือ การออกแบบชุดข้อมูลที่เป็น Structured Data ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม และข้อมูลทางการเงินอย่างสะดวก ประกอบด้วยข้อมูล ESG พื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ปริมาณการใช้พลังงาน และทรัพยากร ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการบริษัท และเชื่อมต่อกับระบบนำส่งรายงาน 56-1 One Report
· เมื่อพิจารณาข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากฐาน ESG Data Platform บริษัทที่จดทะเบียน (บจ.) ใน SET และ mai ทั้งหมด 835 บริษัท มีผลที่น่าสนใจดังนี้
o บจ. ที่รายงานปริมาณการปล่อย GHG มีจำนวน 445 บริษัทในปี 2023 (คิดเป็น 50.3% ของบริษัททั้งหมด) เพิ่มขึ้นจาก 342 ในปี 2022 (คิดเป็นเพิ่มขึ้น 30%) ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบเพิ่มขึ้น 47%
o ปริมาณการปล่อย GHG ที่รายงานมาในปีล่าสุดอยู่ที่ 634 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลง 6.1% จากปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มบริการ นอกจากนี้พบว่าปริมาณการปล่อย GHG สัมพันธ์กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย
o การเปิดเผยข้อมูลการปล่อย Scope 1 และ Scope 2 มีสัดส่วนมากกว่า Scope 3 ซึ่งยังเป็นการเปิดเผยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ การรายงาน Scope 3 เป็นเรื่องยากเนื่องจากมีความซับซ้อนหลายประการที่ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลท้าทายมากกว่าโดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีทรัพยากรค่อนข้างน้อย
· การเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ บริษัทจำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดการที่ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG ของบริษัทจดทะเบียน เช่น กรณีที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ทำให้มีบจ. ที่ไม่ได้อยู่ใน SET ESG มีแรงจูงใจในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG เพิ่มขึ้น 43% YoY นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดเผยข้อมูล การให้แรงจูงใจโดยการลดค่าธรรมเนียมกับบจ. การให้ความรู้รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง