“บมจ.ไมโครลิสซิ่ง ” ชูกลยุทธ์บริหารธุรกิจปี 2567 เน้นดูแลสภาพคล่องเป็นหลัก คุมคุณภาพหนี้ รักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดแข็งแกร่ง และมีวงเงินธนาคารสามารถกู้ได้ราว 1 พันล้าน พร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 2 รุ่น ประเมินภาพรวมธุรกิจโค้งแรกปีนี้ การปล่อยสินเชื่อจะลดลง ดีมานด์การใช้รถบรรทุกยังมีไม่มาก
นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมรถบรรทุกมือสองในปี 2567 การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะยังกระทบถึงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 โดยแผนธุรกิจของ MICRO ในปีนี้หลักๆยังคงเน้นการดูแลสภาพคล่องและรักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้
ในปี 67 บริษัทยังคงสานต่อกลยุทธ์ในการเน้นการดูแลสภาพคล่องเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดแข็งแกร่งกว่า 426 ล้านบาท และมีวงเงินธนาคารที่สามารถเบิกได้อีกราว 1,000 ล้านบาท กระแสเงินสดของบริษัทเหลือค่อนข้างเยอะ เนื่องจากปีที่ผ่านมาบริษัทเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น คือ เดือนเมษายน 67 นี้ จำนวน 321.1 ล้านบาท และในเดือนตุลาคมปีนี้อีกจำนวน 762.1 ล้านบาท ซึ่งในปี 66 ที่ผ่านมา บริษัทได้ไถ่ถอนหุ้นกู้ MICRO23OA จำนวน 349.3 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 ได้ตามกำหนด ซึ่งเป็นแหล่งเงินจากสภาพคล่องคงเหลือของบริษัทเอง โดยไม่ได้ออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาไถ่ถอน หรือเบิกวงเงินจากธนาคารเพื่อชำระคืน เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ บริษัทพยายามมุ่งเน้นในการคัดกรองคุณภาพลูกหนี้ใหม่อย่างต่อเนื่อง จากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลากยาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งธุรกิจภาคการขนส่งและภาคก่อสร้าง ทำให้ภาพรวมของการใช้รถบรรทุกปรับตัวลดลง ซึ่ง MICRO ได้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2/65 และกลางไตรมาสที่ 1/66 ที่มีการปรับนโยบายการอนุมัติสินเชื่อซึ่งส่งผลต่อยอดปล่อยสินเชื่อของทั้ง 2 ช่วงเวลา รวมทั้งในช่วงต้นไตรมาส 1/67 บริษัทได้มีการปรับนโยบายราคากลางรถบรรทุกลง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคารถบรรทุกมือสองได้รับแรงกดดันจากปริมาณงานที่ลดลง และจำนวนรถบรรทุกที่กลับมาอยู่ในตลาดรถมือสองมีจำนวนค่อนข้างมาก
และเนื่องด้วยบริษัทไม่ได้เร่งการปล่อยสินเชื่อในเชิงปริมาณ เราจึงลดต้นทุนในด้านต่างๆ ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดย ในเดือนมีนาคมนี้บริษัทได้มีการควบรวมสาขา 3 สาขา ได้แก่ รวมสาขาสมุทรปราการ มาอยู่ที่สาขาชลบุรี รวมสาขากรุงเทพฯ มาอยู่ที่จ.นครปฐม และรวมสาขาชัยภูมิ มาอยู่กับสาขานครราชสีมา และปีนี้มีแผนจะควบรวมสาขาเพิ่มอีก 3 แห่ง ให้เหลือ 19 สาขา จากเดิมมี 25 สาขา อย่างไรก็ดี หากภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติทางบริษัทสามารถกลับมาเปิดสาขาใหม่ในพื้นที่ที่ถูกควบรวมได้ในอนาคต ซึ่งสาขาส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นพื้นที่เช่าทำให้ไม่มีต้นทุนจมอยู่ในสาขา
สำหรับกลุ่มธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด (MPLUS) ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เน้นดีลเลอร์ที่คัดคุณภาพลูกหนี้ที่ดีให้กับเรา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดลงของพอร์ตสินเชื่อบางส่วน แต่แลกกับคุณภาพของลูกค้า โดยคุณภาพหนี้ใหม่ในพอร์ตสินเชื่อรถจักรยานยนต์ของบริษัทดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 66 บริษัทได้เกิดจุด break-even point ขึ้นทั้งสองเดือน ทำให้คาดว่าผลกระทบของงบการเงิน MPLUS ต่องบการเงินรวมของ MICRO จะลดลง
บริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด (MIB) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต วางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อทั้งรถบรรทุกมือสอง และรถจักรยานยนต์ โดยเน้นช่วยเหลือลูกค้าเก่าที่มีประวัติผ่อนชำระดี ให้สามารถผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันกับบริษัทได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้ลูกค้าในกรณีเกิดเหตุที่ไม่ได้คาดฝันขึ้น
ส่วนบริษัท ไมโคร ฟิน จำกัด (MFIN) ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้เริ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่าของบริษัท (Top-up) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/66 และเริ่มปล่อยสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน (Title Loan) ในช่วงต้นไตรมาส 1/67 ที่ผ่านมา โดยเน้นขยายจากฐานลูกค้าเดิมของ MICRO เป็นหลัก เพื่อเป็นการช่วยเหลือและรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางให้กับบริษัท