การบินไทบ เผยไตรมาส 3 ของปี 2567 รายได้รวม 4.5 หมื่นลบ. โต 22% กำไร 1.2 หมื่นลบ. พร้อมอัพเดตความคืบหน้ากระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. แล้ว คาดเจ้าหนี้ใข้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน 19-21 พ.ย. นี้ ย้ำจะยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกลางปี 68
การบินไทยประกาศผลการดำเนินงาน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท หรือ 23.8% โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.94 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 77.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 76.1%
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,636 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 29,289 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง13,550 ล้านบาท คิดเป็น 35.1% ของค่าใช้จ่ายรวม(ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว)
โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3 ของปี 2566 ซึ่งมีกำไร 7,719 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,829ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 10,119 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน กำไร 1,546 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 6,655 ล้านบาท
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 111,617 ล้านบาทสูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท คิดเป็น 28.9% บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 24,193 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2566 ที่กำไร 29,330 ล้านบาท คิดเป็น17.5% โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 14,233 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้รวม 5,273ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินแบบแอร์บัส A380-800 ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 16,342 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการทั้งสิ้น 77 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 2 ลำ ในช่วงเดือนตุลาคม รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 9 ลำ บริษัทฯ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.0 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 15.3% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ย 77.4% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่80.0% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7%
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531ล้านบาท
บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวกซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการประกอบด้วย (ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกืน 14,862,369,633 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 37,828 ล้านบาท (ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) และ (ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 4,845 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนโดยความสมัครใจ ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
โดยคาดว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งในส่วน Voluntary Conversion และหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักได้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ถึง 21 พฤศจิกายน 2567 ภายหลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 โดยบริษัทฯ จะรายงานความคืบหน้าที่สำคัญให้ทราบต่อไป