WICE เดินหน้าจัดตั้งบริษัทย่อย WICE Global Road Solutions Co.,Ltd หรือ(WGRS) ในประเทศสิงค์โปร์ รุกขยายธุรกิจ Cross Border Service ควบคู่กับ ETL เร่งขยายพื้นที่ให้บริการในตลาดใหม่ๆ เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มบริษัท มั่นใจธุรกิจโลจิสติกส์ปีหน้าฟื้นตัว หลังจีนทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนวอลุ่มกลับมา ด้านงวด 9 เดือนแรก ทำรายได้ 2,934 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 151 ล้านบาท เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการต้นทุน จนสามารถทำ Gross Margin เพิ่มขึ้นกว่า 2%
นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปี 2567 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยคู่ค้าที่สำคัญของบริษัทฯ อย่างประเทศจีน ได้ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประกาศใช้นโยบายและมาตรการในทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งภาคเอกชน การบริโภค และการลงทุน ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ดีขึ้น ขณะที่ค่าระวางเรือคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ตามปริมาณการขนส่งที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมา
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เดินหน้าสร้างการเติบโตในธุรกิจโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border Service) โดยได้ขยายงานควบคู่กับบริษัทในเครืออย่าง บริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จํากัด (มหาชน) หรือETL ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ WICE Global Road Solutions Co.,Ltd หรือ WGRS ในประเทศสิงค์โปร์ ด้วยทุนจดทะเบียน 4 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd ถือหุ้น 100% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างสรรค์โซลูชันแก่ลูกค้าในการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border Transportation Carrier) แบบครบวงจร พร้อมขยายพื้นที่ให้บริการในตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มบริษัทโดยรวม รวมถึงสามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตอย่างเต็มกำลัง
ทั้งนี้ WICE ได้เล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตตามการค้าระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นสูง ด้วยโอกาสเติบโตจากเส้นทางใหม่ที่เชื่อมต่อเอเชียกับยุโรปผ่านเส้นทางสายใหม่ (One-belt One-road) รวมถึงการค้าข้ามพรมแดนของไทยกับสิงคโปร์ เวียดนาม และจีนตอนใต้ ทำให้มีการเติบโตสูง นอกจากนี้ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสความต้องการการขนส่งสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิ เช่น ผลไม้สดและผลไม้แช่เย็น ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตลาดหลักคือ ประเทศจีน จึงได้ร่วมกับETL ในการขยายเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) อย่างเต็มรูปแบบ นับเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างมหาศาล
กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ WICE กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 (กรกฎาคม-กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้รวม 916 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 2,934 ล้านบาท เนื่องจากความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตลง ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการขนส่งทั้งนำเข้าและส่งออกลดลงไปด้วย รวมถึงยังได้รับผลกระทบจากอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว
ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในไตรมาส 3/2566 ทำได้ 32 ล้านบาท ลดลง 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทฯงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ทำได้ 151 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการต้นทุนเพื่อเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ ด้วยกลยุทธ์การบริหารต้นทุนค่าขนส่งร่วมกับบริษัทในเครือ จึงทำให้สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) งวด 9 เดือนแรกได้ดีขึ้นกว่า 2% เติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ชะลอตัว
นอกจากนี้ ธุรกิจงานบริการด้านซัพพลายเชน โซลูชั่นส์ นับเป็นธุรกิจเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากการขยายพื้นที่ให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้นจำนวน 30,000 ตารางเมตร และรับรู้ตามปริมาณงานในการรับบริหารคลังสินค้า อีกทั้ง ด้านความร่วมมือกับบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือSAT ในโครงการบริหารจัดการด้าน Green Logistics Hub โดยจะพัฒนาเป็นคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ล่าสุดอยู่ระหว่างทำแผนพัฒนา คาดว่าจะเริ่มเตรียมการก่อสร้างได้ในปีหน้า ขณะที่โครงการนำรถบรรทุกไฟฟ้า (EV TRUCK) เข้ามาช่วยขนส่งเพื่อทดแทนการใช้รถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้ รวมถึงเจรจากับพันธมิตรควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นในต้นปีหน้าซึ่งจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานและการจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น