Market

หุ้นไทย 5 เดือนแรก ไหลรูด 5% ต่างชาติขายต่อ ส่อง 3 กลุ่มอุตฯ ปรับตัวขึ้นเหนือตลาด
6 มิ.ย. 2567

ตลท. คาดหุ้นไทยฟื้นครึ่งปีหลัง ชี้หากเฟด ลดดบ. เป็นจุดเปลี่ยนตลาดเกิดใหม่   เผย 5 เดือนแรก ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก 5%  ไร้ปัจจัยหนุน ส่วน พ.ค. ร่วง 1.6% ต่างชาติขายอีก 1.6 หมื่นลบ  ระบุ สิ้น พ.ค. 67 ค่า Forward P/E  อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าตลาดเอเชีย และอัตราเงินปันผลตอบแทน  3.48% สูงกว่าในเอเชีย เปิดกลุ่มอุตฯที่ปรับตัวขึ้นชนะตลาด ได้แก่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ กลุ่มบริการ  

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวมั่นใจว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตจากครึ่งปีแรก จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ น่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และหนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน

 

ส่วนประเด็นการเมืองที่มีความไม่แน่นอน  มอฃว่าไม่มีผลต่อ SET  เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ  แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะนี้แม้ SET ยัฃปรับตัวลดลง แต่เริ่มเห็น Sentiment ของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น

 

“เรื่องเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่วนการเมือง  นักลงทุนต่างชาติก็ถามเหมือนกัน เราก็ได้ตอบไปว่าช่วงที่ผ่านมาการเมืองไทยเป็นแบบนี้ สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างไรมากกว่า”

 

ทั้งนี้ ล่าสุด ตลท. โรดโชว์ให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ฮ่องกง 

 

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยว่า  แนวโน้มการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะ (Higher for Longer) หลังจาก IMF ประเมินสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ทำให้สายการเดินเรือใหญ่ปรับเส้นทางขนส่งซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะยังทรงตัวในระดับสูงกระทบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด แม้ว่าตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงอ่อนแอ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นตลาดหุ้นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว

 

"หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของการลงทุนใน ตลาด Emerging Markets"

 

สำหรับเศรษฐกิจไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัว1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.8% หลังได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มเป็นบวกเดือนแรกหลังหดตัวติดต่อกันหกเดือน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออก อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส1/2567 โดยภาพรวมมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน  เช่น ธุรกิจโรงแรม การบิน พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม นอกจากนี้ บริษัท  จดทะเบียนเกินครึ่งรายงานกำไรสุทธิสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้นักวิเคราะห์ปรับ Forward EPS ของ SET เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ valuation ของหุ้นไทยหลาย sector ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

 

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

  • ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,345.66 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการสนับสนุนตลาดทุนหลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ
  • ในเดือนพฤษภาคม 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ กลุ่มบริการ
  • ในเดือนพฤษภาคม 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 มาอยู่ที่ 45,612 ล้านบาท แม้ว่าลดลง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 16,566 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 25
  • ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. สุพรีม ดิส       ทิบิวชั่น (SPREME) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น (LTS)
  • Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม2567 อยู่ที่ระดับ 3.48% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.18%

 

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

  • ในเดือนพฤษภาคม 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 393,053 สัญญา ลดลง 14.5% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 429,791 สัญญา ลดลง 21.6% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures
Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com