“ทรีนีตี้ ”มองหุ้นเดือนมิ.ย. อาจผันผวนจากปัจจัยการเมืองภายใน แนะถือครองหุ้นที่ได้เข้าสะสมไปก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนี 1340-1350 จุด คัดหุ้น 3 กลุ่มหุ้นน่าลงทุน 1. กลุ่มที่จะถูกนำเข้าคำนวณดัชนี SET50/SET100 และ Valuation อยู่ในระดับน่าสนใจเลือก BJC 2. กลุ่ม Defensive เช่นโรงพยาบาล เพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดือน อาทิ BDMS, BCH, CHG และ3. กลุ่มส่งออกที่ยังคงปรับตัว Laggard ได้แก่ COCOCO, MALEE, PLUS, TU
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนมิถุนายน 2567 สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยในเดือนมิ.ย. คาดว่า SET Index จะแกว่งตัวผันผวนไปกับพัฒนาการของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ซึ่งในเดือนนี้จะมี 3 เหตุการณ์ที่สำคัญได้แก่ 1.การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) 2.การพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) และ 3.การที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ผิดม.112 และมีการนัดส่งฟ้องศาลในวันที่ 18 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม หากตัดปัจจัยการเมืองออกไป จะพบว่าปัจจัยพื้นฐานล่าสุดของตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนที่สำคัญ โดยประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เมื่อมาประกอบกับมาตรการ Uptick rule ที่คาดว่าจะถูกบังคับใช้ได้ในเดือนนี้ ทำให้ประเมิน Downside ของ SET Index ณ ปัจจุบันเริ่มอยู่ในกรอบจำกัด
ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำนักลงทุนที่ได้เพิ่มน้ำหนักหุ้นในกรอบ 1340-1350 จุดในช่วงปลายเดือนก่อนตามที่เราแนะนำ สามารถถือครองหุ้นในส่วนดังกล่าวไว้ได้ ส่วนถ้าหากเกิดความยุ่งเหยิงทางการเมืองในเดือนนี้จนเกิดภาวะ Political discountประเมินแนวรับสำคัญที่ไม่น่าหลุดในเดือนนี้ได้แก่บริเวณดัชนี 1300 จุด ซึ่งแนะนำใช้เป็นบริเวณแนวรับถัดไป
นายณัฐชาต กล่าวว่า ประเมินกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ สำหรับพอร์ตที่ต้องการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนที่บริเวณแนวรับดัชนี ได้แก่ 1.กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50/SET100 และ Valuation อยู่ในระดับน่าสนใจ เลือก BJC 2.กลุ่ม Defensive เช่นโรงพยาบาล เพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยการเมืองในประเทศ อาทิ BDMS, BCH, CHG 3.กลุ่มส่งออกที่ยังคงปรับตัว Laggard ได้แก่ COCOCO, MALEE, PLUS, TU
ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามในเดือนมิ.ย.นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ได้แก่ 1.ผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มมีมติขยายเวลาลดกำลังการผลิตลง 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2568 และขยายเวลาลดการผลิตโดยสมัครใจอีก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ และหลังจากนั้นจะให้ทยอยหมดอายุไปภายในหนึ่งปี ซึ่งถือว่า Bearish กว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ทำให้ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มองเป็น Sentiment เชิงลบต่อกลุ่ม Oil & Gas ของไทยในช่วงต้นเดือนนี้ 2.การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 6 มิ.ย. คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย Deposit facility rate 0.25% สู่ระดับ 3.75% 3.การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 11-12 มิ.ย. คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่น่าจับตาไปยังประมาณการ Dot plots รอบใหม่
4.การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 12 มิ.ย. คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแต่อย่างใด 5.การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 13-14 มิ.ย. คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่น่าจับตาว่าจะมีการส่งสัญญาณในเชิง Hawkish บ้างหรือไม่ หลังค่าเงินเยนมีความอ่อนแออย่างมากในช่วงที่ผ่านมา 6.รายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯประจำเดือนพ.ค.ในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไปยังคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ย Fed ในตลาด 7.ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะระหว่างจีนกับไต้หวัน 8.การประกาศใช้มาตรการUptick rule ของทางตลท. และ 9.ติดตามรายละเอียดกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ ว่าจะมีการเปิดเผยออกมาภายในเดือนนี้หรือไม่ หากลักษณะเหมือนกับรูปแบบกองทุน LTF เดิม ทั้งในมิติวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด และระยะเวลาถือครองที่สั้นลง เมื่อเทียบกับกองทุน SSF และ ThaiESG มองจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยขึ้นมาได้บ้าง